นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 12-13 มิถุนายน 2564 ส่งผลบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ นั้น ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรง จนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็วที่สุด รวมทั้งกำชับให้มีการตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด (Dynamic Operating Curve : DOC) ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมไปถึงการเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที พร้อมทั้งร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใก้ลชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยที่เกิดจากน้ำ ลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและภาพรวมสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด