นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ขอความร่วมมือให้โรงงานขนาดใหญ่ เร่งประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ให้ครบ 100% ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ พร้อมกำชับพนักงานประเมิน Thai Save Thai คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าทำงาน เพื่อลดการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19 ในโรงงานด้วย เนื่องจากขณะนี้พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานหลายครัสเตอร์ ส่งผลให้ต้องหยุดกิจการกระทบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตั้งเป้าหมายให้โรงงานขนาดใหญ่ ที่มีคนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จำนวน 3,300 แห่ง เข้าร่วมประเมินผ่าน Thai Stop COVID Plus (GOOD FACTORY PRACTICE) เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานประเมิน 100% ในโรงงานกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1) กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดสวัสดิการสำหรับแรงงาน
2) กระทรวงมหาดไทย ที่ให้การสนับสนุนและร่วมดำเนินการในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
3) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ให้กับสถานประกอบการที่รับการสนับสนุนจาก BOI
4) กระทรวงสาธารณสุข กำหนดข้อแนะนำทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาด ประกอบด้วยมาตรการและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน และแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ โดยให้ผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์
ขณะนี้ได้ประเมินแล้วรวม 1,832 แห่ง และยังเหลืออีก 1,468 แห่ง ที่ยังไม่ประเมิน จึงขอความร่วมมือโรงงานขนาดใหญ่เร่งประเมินตนเองเพื่อให้ได้ครบตามเป้าหมาย 100% ภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ส่วนโรงงานขนาดกลางขณะนี้มีการประเมินแล้วจำนวน 1,600 แห่ง และโรงงานขนาดเล็กได้ประเมินแล้ว จำนวน 3,176 แห่ง
จากข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานขนาดใหญ่ ตั้งแต่เดือนก.พ.จนถึงปัจจุบัน พบว่า 5 จังหวัดอันดับที่มีรายงานติดเชื้อภายในโรงงานมากที่สุด คือ จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 91 โรงงาน จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 41 โรงงาน จังหวัดปทุมธานี จำนวน 32 โรงงาน จังหวัดชลบุรี จำนวน 30 โรงงาน และจังหวัดนครศรีอยุธยา จำนวน 29 โรงงาน ตามลำดับ จึงขอความร่วมมือพนักงานทุกคน ต้องประเมินตนเองก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกวันผ่านเว็บไซต์ Thai Save Thai ซึ่งยกระดับการคัดกรองคนก่อนเข้าโรงงานอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันผู้มีความเสี่ยงไม่ให้เข้ามาปฏิบัติงานและแพร่เชื้อในสถานประกอบการสู่ เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และชุมชน รวมถึงลดความรุนแรงหากมีความเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาหรือพบแพทย์ได้เร็วขึ้น
แต่หากพบผู้ติดเชื้อภายในโรงงานต้องปฏิบัติตามมาตรการผู้ติดเชื้อโรงงาน ใน 4 ข้อ ดังนี้
1) แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่พบผู้ป่วย
2) พิจารณาหยุดกิจกรรมหรือปิดให้บริการในแผนกนั้น หรือปิดสถานที่ตามที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคกำหนด
3) ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณสถานที่โดยรอบและพื้นผิว โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม
4) กรณีพบพนักงานติดเชื้อมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ให้ใช้หลักการจัดการแบบ Bubble & Seal เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่ สังคมภายนอก