ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,129 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,991 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 658 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 457 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา 23 ราย โดยยังพบการลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย 11 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 12 ราย อายุระหว่าง 38-89 ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร 22 ราย เพชรบุรี 3 ราย สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อุดรธานี สระแก้ว นราธิวาส จังหวัดละ 1 ราย โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง และโรคปอด
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 207,724 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 172,316 ราย เพิ่มขึ้น 4,651 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,555 ราย
พ.ญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า กรุงเทพฯ ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด จำนวน 1,032 ราย ยังไม่ลดลง และมีคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวัง 83 แห่ง และมีการพบคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงเรียนพลาธิการ ของกองทัพเรือ บางนา มีผู้ติดเชื้อ 37 ราย และยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม, สมุทรปราการ 390 ราย, สมุทรสาคร 171 ราย, นครปฐม 130 ราย, นนทบุรี 105 ราย, ชลบุรี 75 ราย, ปทุมธานี 71 ราย, นราธิวาส 67 ราย, ปัตตานี 58 ราย, อยุธยา 43 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า วันนี้มีรายงานจังหวัดที่ติดเชื้อลำดับที่ 12 จ.ยะลา เป็นกรณีคลัสเตอร์ของโรงเรียนมารากัส มีนักเรียนที่เดินทางข้ามพื้นที่ มีการติดเชื้อในโรงเรียน และเดินทางไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้พบตัวเลขยืนยันผู้ติดเชื้อจ.สุราษฎร์ธานี 8 ราย กระบี่ 12 ราย พังงา 2 ราย ภูเก็ต 1 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อในกลุ่มก้อนนี้ยืนยันแล้ว 23 ราย และยังคงรอผลอยู่อีกบางส่วน ซึ่งทางสำนักงานกรมควบคุมโรคเขตสุขภาพที่ 11 ได้มีเก็บตัวอย่าง เพื่อส่งตรวจเชื้อกลายพันธุ์เรียบร้อยแล้ว และแจ้งจังหวัดที่มีรายงานให้มีการเฝ้าระวังติดตามซึ่งกระบวนการสอบสวนโรค ทั้งผู้ติดเชื้อและครอบครัวให้ความร่วมมือเป็นอย่างในการเปิดเผยข้อมูล ไทม์ไลน์ เป็นอย่างดี ทำให้เกิดการเฝ้าระวังได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้มีการรายงานความเชื่อมโยงจากชลบุรี มีการระบาดไปที่อ.เทิง เชียงราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 23 คน นอกจากนี้พบการแพร่ระบาดในโรงงานขนาดเล็กค่อนข้างมาก แต่ละโรงงานมีหลายสาขา บริษัทมีบริการรถรับส่ง ซึ่งมีการรับพนักงานจังหวัดหนึ่ง ย้ายข้ามไปอีกจังหวัดหนึ่ง สะท้อนให้เห็นการเกิดการแพร่ระบาดข้ามโรงงาน หรือข้ามจังหวัด ซึ่งทางโรงงานต้องมีการทบทวนมาตรการและการเฝ้าระวัง
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า กรมควบคุมโรคเสนอให้จังหวัดมีการกำหนดมาตรการที่เข้มข้น เช่น กรณีที่มีการพบผู้ติดเชื้อ แต่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักกันตัวก่อน หลายคนทำไม่ได้ เพราะที่อยู่อาศัยค่อนข้างแออัด จึงขอความร่วมมือให้จังหวัดหาสถานที่ทำการกักตัว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมกับเน้นย้ำให้จังหวัดเฝ้าระวังการเดินทางข้ามพื้นที่
"คงต้องเน้นย้ำว่า ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ทางศบค.ชุดเล็กก็มีความเป็นห่วงและเห็นใจผู้บริหารหรือผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด ท่านอาจดูแลทั้งจังหวัดไม่ไหว ก็อยากขอร้องศปก.โควิดระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ท่านปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ คงต้องเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน"พญ.อภิสมัย กล่าว
สำหรับกรณีแคมป์คนงานในกทม. ในที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก มีการหารือว่า การสอบสวนในแคมป์คนงาน 50 เขตในกทม. อยู่ที่ 575 แคมป์ มีคนงาน 79,620 คน เป็นคนไทย 33,432 คน เป็นคนต่างชาติ 46,188 คน ที่ผ่านมามีการขอความร่วมมือแต่ละแคมป์ไปแล้ว ซึ่งหากทำไม่ได้ต้องมีการปรับมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย ส่งกำลังทหาร ตำรวจ ไปดูแลแคมป์คนงานทุกแคมป์
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 177,777,052 ราย เสียชีวิต 3,847,778 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,365,985 ราย อันดับสอง อินเดีย 29,699,555 ราย อันดับสาม บราซิล 17,629,714 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,747,647 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,348,249 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 78