นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาสุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงผลการวิจัยในคนไทย หลังฉีดวัคซีน Sinovac โดยศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐ) ทำการทดสอบเลือดของผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวก 2 เข็มต่อการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส SARS-CoV-2 ในห้องทดลอง พบว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนซิโนแวกที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ มีผลช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสที่ SARS-CoV-2 ได้
- โดยร้อยละ 95 ของผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวก เข็มที่ 2 มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสจากการตรวจภูมคุ้มกันต่อโปรตีนของไวรัส (วิธี ELISA) จากจำนวนทั้งหมด 186 คน จึงมั่นใจได้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- การทดสอบเลือดของผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวกกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีชีวิต หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 นาน 2 สัปดาห์ จำนวน 171 คน พบว่ามากกว่าร้อยละ 70 มีภูมิในระดับที่ยับยั้งเชื้อได้ดีในห้องทดลอง
"ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีภูมิขึ้นในระดับที่น่าพอใจและจำเป็นต้องมีวินัยสูงอยู่ตลอด"
คนที่มีภูมิคุ้มกันขึ้นช้า มีสาเหตุจากการตอบสนองของแต่ละบุคคลที่ไม่เท่ากัน จากหลายปัจจัย อาทิ เพศ อายุ โรคประจำตัว ระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ทุกคนยังจำเป็นต้องป้องกันตนเองเช่นเดิม เพื่อลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ
อย่างไรก็ดี ประชาชนทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภูมิหลังจากการฉีดวัคซีน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความจำเป็นในการตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับคำแนะนำในขณะนี้ของ Center for Disease Control and Prevention และองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา
"สรุปว่า sinovac ใช้ได้ จุดประสงค์ที่ต้องการให้ทุกคนทราบคือ แม้ว่าฉีดวัคซีนไปแล้วจะต้องมีวินัยสูงสุด" นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ