นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ได้เห็นชอบหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 และ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ในลำดับถัดไป ตามการนำเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ชุดใหญ่ ได้มอบนโยบายต่อทิศทางการเปิดประเทศว่า จะต้องค่อยๆ เปิด และจัดความสมดุลระหว่างการป้องกันการติดเชื้อในประเทศ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว มีดังนี้
ก่อนเดินทางเข้ามาถึง : ได้กำหนดประเทศของนักท่องเที่ยว เป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ และเสี่ยงปานกลางตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และ ททท.เลือกบางประเทศ โดยต้องได้รับวัคซีนครบกำหนด 2 เข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน มีผลการตรวจโควิด-19 ภายใน 72 ชม. เป็นต้น
เมื่อเดินทางมาถึง : ต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" (ภาษาอังกฤษ) เดินทางเข้าที่พัก SHA ด้วยพาหนะที่กำหนด (กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ให้เข้าที่พัก ALQ) จากนั้นต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด เมื่อทราบผลตรวจและไม่พบเชื้อ จะสามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ตได้ (กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า สามารถออกนอกห้องพัก และใช้บริการในบริเวณที่พัก)
- กรณีภูเก็ต นักท่องเที่ยวต้องพำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน หากอยู่น้อยกว่า 14 คืน จะต้องเป็นกรณีเดินทางออกจากประเทศเท่านั้น
- กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ในวันที่ 1-3 นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกห้องพัก และใช้บริการในบริเวณที่พักได้, วันที่ 4-7 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในระบบปิด ตามเส้นทางที่กำหนดในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย, วันที่ 8-14 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ไม่กักตัวแบบมีเงื่อนไข
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต้องทำ RT-PCR อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 6-7 และ 12-13 และปฏิบัติตัวตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคลอย่างเคร่งครัด
ก่อนเดินทางออก : ก่อนออกจากภูเก็ต หรือเกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า ไปยังจังหวัดอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวแสดงหลักฐานยืนยันว่าได้พำนักในที่พัก SHA / ALQ ตามระยะเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมีผลการตรวจตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเปิดเมือง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Phuket Tourism Sandbox) โดยมีองค์ประกอบเป็นผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน และให้ผู้ว่าฯ ภูเก็ตเป็นประธาน นอกจากนี้ ต้องจัดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรด้านการแพทย์ สาธารณสุข รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ หอพักผู้ป่วย พร้อมจัดทำแผนรับสถานการณ์
อย่างไรก็ดี ต้องมีการจัดทำแผนรับมือ และแผนชะลอ/ยกเลิกโครงการไว้ด้วย โดยในกรณีของภูเก็ตนั้น ขึ้นกับสถานการณ์ดังนี้
- จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มากว่า 90 ราย/สัปดาห์
- ลักษณะการกระจายโรคในจังหวัด ทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล
- มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือระบาดในวงกว้าง หาสาเหตุความเชื่อมโยงไม่ได้
- มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ 80% ของศักยภาพของจังหวัด
- มีการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ในวงกว้าง แบบควบคุมไม่ได้
โดยจะมีมาตรการปรับเปลี่ยน 4 ระดับ คือ 1.ปรับลดกิจกรรม 2. Sealed route 3. Hotel Quarantine 4. ทบทวนและยุติ Phuket Sandbox