นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวชี้แจงถึงประเด็นเรื่องการคืนเงินแก่นิติบุคคลที่ได้ทำการยื่นความประสงค์จองวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" ผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นั้น ยืนยันว่าทุกองค์กรที่เป็นโควต้าของทาง ส.อ.ท.จะได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างครบถ้วน เพียงแต่จะต้องแยกออกมาเป็นของแต่ละองค์กร และต้องมีการลงนามเป็นรายบริษัท เนื่องจากในข้อตกลงแต่ละองค์กรจะไม่สามารถรับผิดชอบแทนกันได้
นพ.นิธิ ระบุว่า ปัญหาเกิดจากการที่ทางส.อ.ท.เปิดรวบรวมความประสงค์ก่อน โดยที่ยังไม่ทราบข้อตกลงและรายละเอียดของการจองวัคซีนจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ภายหลังทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีข้อตกลงในการจองวัคซีนว่าจะต้องมีการทำสัญญาโดยตรงกับทางนิติบุคคล
"ในกลุ่มรายชื่อที่ส.อ.ท.ส่งรวมๆ กันมา ก็จะได้กันหมด เพียงแต่ว่า แต่ละนิติบุคคล(บริษัท) ต้องลงนามในข้อตกลงเองและโอนเงินเอง เพื่อกำหนดโรงพยาบาลที่ฉีดให้เองด้วย รวมถึงกำหนดการบริจาคและกลุ่มที่ประสงค์จะบริจาคให้ และยังต้อง load ชื่อพนักงาน พร้อมเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ติดต่อแต่ละคน ซึ่งหากส.อ.ท.ทำเองจะช้า พนักงานจะได้วัคซีนช้าตามไปด้วย ในข้อตกลงมีรายละเอียดมากที่ต้องทำกันเอง ที่สำคัญคือทุกบริษัทต้องสัญญาว่า ไม่นำไปขายต่อหากำไร"
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะปิดรับความประสงค์ไปแล้ว และยังมีนิติบุคคลบางส่วนจากทาง ส.อ.ท.ที่ยังไม่ยื่นความประสงค์กับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์โดยตรง ทั้งนี้องค์กรที่ยังไม่ยื่นความประสงค์โดยตรง อาจมีระยะเวลาการดำเนินงานที่ช้ากว่าองค์กรอื่นเนื่องจากต้องจัดการยื่นเอกสารในภายหลัง ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อ และจำนวนวัคซีนได้จากยอดจองเดิมคือ 3 แสนโดส พร้อมยืนยันว่าวัคซีนล็อตที่ 2 จะเข้ามาอย่างแน่นอน ส่วนจะเข้ามาช่วงไหนนั้นจะต้องรอติดตาม
"ไม่เทใคร แต่อาจเรียงลำดับตามความสำคัญ เพราะวัคซีนทยอยมา คาดว่า 2 เดือนต่อไปไม่ต่ำกว่า 6 ล้านโดสหรือ 3 ล้านคน"
นพ.นิธิ กล่าวถึงเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม คือต้องจัดสรรแบบเป็นกลุ่ม เนื่องจากต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ โดยจะมีการจัดสรรวัคซีนตามกลุ่มที่มีความสำคัญด้านความมั่นคงทั้งเศรษฐกิจและสังคมก่อน คือกลุ่มที่ 1 การศึกษา เพื่อรองรับการเปิดเทอม โดยจะเป็นการจัดสรรวัคซีนให้บุคลากรในโรงเรียน เนื่องจากเด็กยังไม่ได้รับการจัดสรรให้ฉีดวัคซีนจึงอาจเกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย, กลุ่มที่ 2 การแพทย์ภาคเอกชน รวมทั้งคลินิคเอกชนต่างๆ, กลุ่มที่ 3 องค์กรการกุศล และกลุ่มที่ 4 ธุรกิจด้านอุปโภคบริโภค อาหาร ทั้งภาคนิติบุคคล และธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีนัยยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เช่นการผลิตเพื่อส่งออก หรือโรงงานอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้กลุ่มที่ 1-3 จะมีการจัดสรรวัคซีนให้จำนวน 100% จากจำนวนที่ทางองค์กรนั้นๆ ยื่นความประสงค์มา