นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หลังจากการแพร่ระบาดสายพันธุ์อัลฟาจากคลัสเตอร์ทองหล่อ ต่อมาไวรัสโควิด-19 ได้กลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งแพร่ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งตามวัฎจักรจะอยู่ได้อีก 4-5 เดือน ทำให้แนวโน้มที่จะเกิดการระบาดในสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้น และหากหมดสายพันธุ์เดลต้าก็คงจะมีสายพันธุ์อื่นๆ เข้ามาอีก ไม่สิ้นสุดแต่สายพันธุ์เดลต้าเท่านั้น
ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อโรค ซึ่งเป็นการพัฒนาจากสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดประสิทธิภาพการต้านโรคลง จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนในระยะที่ 2 ต่อไป
"ขณะนี้หลายคลัสเตอร์เป็นสายพันธุ์เดลต้า เราต้องยอมรับความจริงว่าไวรัสจะมีวิวัฒนาการจนกว่าจะมีวัคซีนมาป้องกันได้"นพ.ยง กล่าว
นพ.ยง กล่าวว่า การป้องกันสายพันธุ์เดลต้าต้องใช้ภูมิต้านทานที่สูง โดยจากการศึกษาของประเทศสก็อตแลนด์ มีการใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า ประสิทธิภาพของไฟเซอร์ที่ให้ 2 เข็มป้องกันได้ 79% ในขณะที่แอสตร้าฯ 2 เข็ม เหลือ 67% จากเดิม 90% ดังนั้น หากฉีดเพียงเข็มเดียวประสิทธิภาพในการป้องกันอาจไม่เพียงพอ
นพ.ยง กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะทำได้คือจะต้องชะลอการระบาดของสายพันธ์เดลต้าให้ได้มากที่สุด เพื่อยังยั้งการระบาด โดยการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 เร็วขึ้นเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ส่วนซิโนแวก เข็ม 2 ภูมิต้านทานยังต่ำ อาจจะต้องมีการให้เข็ม 3 เพื่อให้เพียงพอต่อการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า และต้องปูพรมฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด ก่อนที่จะมีวัคซีนไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์น่าที่จะเข้ามาในช่วงต.ค.
นพ.ยง ได้ยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนโรคตับอักเสบบี และบาดทะยัก ก็ให้ถึง 3 เข็ม โดยเข็มแรกเพื่อป้องกันโรค เข็มที่ 3 เป็นวัคซีนตัวเดียวกัน กระตุ้นภูมิต้านทานได้มากกว่า 10 เท่า สำหรับวัควีนโควิดขณะนี้กำลังศึกษาจะให้เข็ม 3 แม้จะเป็นวัคซีนตัวเดิม โดยอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็นการให้ตัวเดิม หรือเปลี่ยนตัว โดยข้อมูลจะออกมาเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่มีภูมิต้านทานสูงก็จะมีผลข้างเคียงสูง ส่วนตัวที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผลข้างเคียงก็จะต่ำเป็นปกติ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 กำหนดระยะห่างของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ ซึ่งสามารถขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ในกรณีที่จำเป็น สอดคล้องกับข้อมูลของประเทศอังกฤษที่มีการศึกษาว่าขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ในระยะแรกของการรณรงค์ แต่ในขณะนั้นยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า โดยมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม. บริหารจัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าสายพันธุ์เดลต้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงเห็นชอบให้พื้นที่ที่มีการระบาดสามารถปรับระยะเวลาการฉีด เข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นจากปกติที่นัดห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์เป็น 8 สัปดาห์