นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงทางออกวิกฤติวัคซีนและการระบาดว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ควรทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาวางแผน และดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเอง โดยไม่ต้องให้ผ่านกระบวนการของกระทรวงและหน่วยงานอื่นในระบบปกติ เนื่องจากเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ช่วงที่ผ่านมากระบวนการต่างๆ ตามระบบปกติในหน่วยงานระดับกระทรวงและองค์กรภายใต้กำกับรัฐนั้นมีความช้า และไม่ทันต่อความต้องการจำเป็นในภาวะวิกฤติ
และ ควรปรับแผนการจัดซื้อจัดหาวัคซีนใหม่ โดยมุ่งเน้นการจัดหาวัคซีน mRNA มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักฐานวิชาการสากลและแนวปฏิบัติที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกดำเนินการด้วยเหตุผลเชิงประสิทธิภาพที่ดีกว่าในการป้องกันโรคและป้องกันการติดเชื้อ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์กลายพันธุ์ต่างๆ
นพ.ธีระ ยังระบุว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ควรยกหูโทรศัพท์เพื่อเจรจากับบริษัทวัคซีนด้วยตนเอง ดังที่เห็นได้จากความสำเร็จของผู้นำประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการเช่นนี้ จนได้วัคซีนมาในปริมาณมากพอและรวดเร็ว
นอกจากนั้น ด้วยสถานการณ์ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ในประเทศไทยมีความรุนแรงอย่างชัดเจน กลุ่มเปราะบางที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่ใช่แค่ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบ แต่ยังหมายรวมถึงกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่เป็นวัคซีนซิโนแวกที่อาจมีคนที่เกิดระดับภูมิคุ้มกันที่น้อยหรือไม่ขึ้น ซึ่งรวมถึงคนทำงานด่านหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขส่วนใหญ่ด้วย
ดังนั้น สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการคือ การจัดหาวัคซีน mRNA มาใช้เพื่อฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิสำหรับคนที่ได้วัคซีนเข็มแรก หรือได้รับวัคซีนครบสองเข็มไปแล้ว ในขณะที่คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ก็ควรได้รับวัคซีนนี้เช่นกันทั้งสองเข็ม พร้อมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเตือน ให้กลุ่มที่ได้รับวัคซีนยังไม่ครบ หรือครบแล้วแต่อาจมีปัญหาระดับภูมิคุ้มกัน ให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด จนกว่าจะได้รับการกระตุ้นโดยวัคซีน mRNA
โดยพึงตระหนักว่า นี่คือวิกฤติของสังคมไทย ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการให้นักวิชาการมาทดลอง แต่นโยบายและมาตรการใดๆ ที่จะออกมานั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้องและได้รับการพิสูจน์แล้ว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาด และป้องกันไม่ให้เกิดการปรับเปลี่ยนแผนไปมามากเกินความเหมาะสม ดังจะเห็นได้จากทั้งเรื่องจำนวนสัปดาห์ระหว่างการฉีดแต่ละเข็ม ตลอดจนการประเมินศักยภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีปัญหา
ด้วยสถานการณ์ระบาดที่รุนแรง กระจายไปทั่ว และไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นด้วยมาตรการที่ดำเนินการมาอาจส่งผลกระทบต่อแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วง 120 วันนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรพิจารณาอัพเกรดมาตรการเพื่อตัดวงจรการระบาดให้ได้ จะโดยการพิจารณาล็อคดาวน์พื้นที่ อำเภอ จังหวัด หรือภาคที่มีการระบาดหนักเป็นระยะเวลาสั้น 2 สัปดาห์ จะทำให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมโรค และต่อลมหายใจของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มาตรการ Bubble and seal ไม่มีทางได้ผลในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะการระบาดกระจายไปทั่ว และกำลังการตรวจคัดกรองโรคมีจำกัด
"เราบอบช้ำมามากแล้วจากการดำเนินการในระลอกสองและสามนี้ ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงาน"นพ.ธีระ กล่าว