ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,108 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,835 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,030 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 229 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย จากโอมาน 1 ราย โซมาเลีย 1 ราย และ กัมพูชา 12 ราย โดยยังคงมีการเดินทางเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติทางจังหวัดจันทบุรี 2 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย แยกเป็นเพศชาย 16 ราย เพศหญิง 15 ราย อายุระหว่าง 30-93 ปี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังมาจาก กทม.
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 232,647 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 191,355 ราย เพิ่มขึ้น 1,578 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,775 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ยังเป็นจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดสูงสุดวันนี้ ที่ 1,359 ราย โดยมีคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังรวมทั้งสิ้น 99 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ใน 42 เขต ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานอีก 3 คลัสเตอร์ สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ คือ 1. เขตบางกะปิ แคมป์คนงานก่อสร้าง พบผู้ติดเชื้อ 164 ราย 2. เขตบางรัก แคมป์คนงานก่อสร้าง พบผู้ติดเชื้อ 120 ราย และ 3. เขตบางขุนเทียน บริษัทผลิตหมวกกันน็อค พบผู้ติดเชื้อ 165 ราย
ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ที่มีคลัสเตอร์ใหม่ เช่น สมุทรสาคร ใน อ.เมือง เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง 9 ราย และโรงงานกุ้ง 9 ราย, นนทบุรี อ.ปากเกร็ด โรงงานสาหร่ายแปรรูป 11 ราย, ปทุมธานี อ.ธัญบุรี บ้านเด็กอ่อนรังสิต 39 ราย
"วันนี้ได้มีการหารือในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก เพราะมีคลัสเตอร์ใหม่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนธัญบุรี มีผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 164 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 3-6 ปี รวม 33 คน มีผู้ดูแล 6 คน ทั้งหมดจากการสอบสวนโรค ผู้ติดเชื้อคนแรกเป็นคนขับรถเพียงคนเดียว" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้มีการพิจารณากรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้สูงอายุ และผู้อยู่ใน 7 กลุ่มโรคประจำตัว ซึ่งได้ลงทะเบียนหมอพร้อมไปแล้ว และได้คิวฉีดวัคซีนเดือนก.ค.-ส.ค.64 ซึ่งเห็นว่าบุคคล 2 กลุ่มนี้ควรจะได้รับวัคซีนเร็วขึ้นกว่ากำหนดนัด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนัก และมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้มากกว่า ดังนั้นจึงขอให้ติดตามการประกาศของ รพ.ที่ได้ลงทะเบียนในระบบหมอพร้อมไว้
ส่วนการบริหารจัดการเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากนั้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลในการเพิ่มศักยภาพการขยายจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะที่น่าเป็นห่วงคือ เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง
ดังนั้น ในที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ ได้หารือและมีข้อเสนอให้ยกระดับ รพ.บางขุนเทียน และ รพ.ราชพิพัฒน์ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยในระดับที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งหารือกับ รพ.เอกชน ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ รพ.กรุงเทพฯ และปริมณฑล
"มีการหารือกับ รพ.มงกุฏวัฒนะ และรพ.ธนบุรี ที่จะปรับพื้นที่ใน รพ. ให้สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการรุนแรงได้มากขึ้น รวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามาธิบดี มหิดล และวชิระพยาบาล 3 ส่วนนี้ จะสามารถเปิดเตียงรองรับผู้ป่วยได้อีกกว่า 50 เตียงภายในเดือนนี้" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
พร้อมกันนี้ จะมีการระดมบุคลากรจากทุกภาคส่วน ทั้งทางทหาร บุคลากรสาธารณสุขต่างจังหวัด และแพทย์จบใหม่ จะมาช่วยดูแลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องเพิ่มทีมสอบสวนโรคให้มากขึ้น เพื่อค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่อาจจะกลายมาเป็นผู้ป่วยโควิดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อแยกเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปสู่วงกว้างในชุมชน
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้ผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย สามารถจะเลือกดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ แต่อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาในหลายจุด การประเมินอาการต้องมีความแม่นยำ ขณะเดียวกันต้องคำนึงด้วยว่าผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองได้อย่างปลอดภัยมากน้อยเพียงใด การกักตัวที่จะต้องไม่นำเชื้อไปแพร่สู่ชุมชน รวมทั้งการติดตามอาการป่วยที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่อาการที่มากขึ้น เป็นต้น
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 180,360,606 ราย เสียชีวิต 3,907,364 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,449,004 ราย อันดับ 2 อินเดีย 30,082,169 ราย อันดับ 3 บราซิล 18,170,778 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 5,762,322 ราย และอันดับ 5 ตุรกี 5,387,545 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 76