เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) โดยมีสาระสำคัญที่บังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คือ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมทั้งหมด 10 จังหวัด พร้อมออกกำหนดและข้อปฏิบัติและรวม 10 มาตรการ ให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
สำหรับสาระสำคัญของข้อกำหนด มีดังนี้
ปัจจุบันสถานการณ์การระบาด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีจำนวนมากกว่าหลายพันรายต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่เร่งจัดการอาจกระทบต่อระบบบริการทางสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์การแพทย์ ที่รองรับผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินซึ่งมีอยู่จำกัด
ประกอบกับพบการระบาดเกิดขึ้น อันเป็นผลจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาและสกัดกั้นการระบาดแบบกลุ่มก้อน ทำให้พบกลุ่มผู้ติดเชื้อกระจายอยู่โดยรอบพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่พักแรงงานก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน ตลาด และแหล่งชุมชน อีกทั้งพบกลุ่มติดเชื้อในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน และบ้านพักคนชราที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
นอกจากนี้ ยังพบการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เบตาที่ ทำให้ป่วยรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อชีวิตในอัตราสูงในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโดยข้อเสนอแนะของฝ่ายสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ และบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น เพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้นการระบาดของเชื้ออย่างเร่งด่วนและหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ป่วย
สำหรับมาตรการสำคัญ มีทั้งหมด 10 ข้อ ดังนี้
1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ สำหรับเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทั้ง 10 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ให้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อควบคุมและชะลอการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายหลายพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายเดินทางของกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ออกเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่นอย่างรวดเร็ว โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการทุก 15 วัน
2. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว พิจารณาออกคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง หรือพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง และคำสั่งปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน
ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตรวจตราและกำหนดเงื่อนไขจำกัดการเดินทางเข้า-ออกสถานที่พัก และตั้งจุดตรวจและสกัดการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ พร้อมสั่งปรับปรุงสุขาภิบาลของสถานที่พัก และตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นการตามมาตรการควบคุมโรค ขณะเดียวกัน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข เข้าจัดการสถานที่พักอาศัยชั่วคราวที่มีคำสั่งปิดดังกล่าว เพื่อใช้เป็นสถานที่กักกัน สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามชั่วคราว เพื่อประโยชน์ต่อการควบคุมโรคได้ตามความเหมาะสม
3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการและโรงงานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ประกอบการในสถานประกอบการหรือโรงงาน ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) รวมทั้งกำหนดเงื่อนไข เพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้าย เดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานประกอบการ หรือโรงงานดังกล่าว และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค
4. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นเพิ่มเติมให้เข้มงวดขึ้นจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้เคยกำหนดไว้ตามข้อกำหนด ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 โดยให้ปฏิบัติต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ดังต่อไปนี้
1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม รวมทั้งที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงแรม สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต รถเข็น หาบเร่แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่ง ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึง 21.00 น. โดยงดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหมุนเวียนอากาศ
3) โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง
4) กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค
5. มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กวดขันตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดโรค เข้าตรวจคัดกรองเชิงรุก และเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อ เพื่อจำแนกและจำกัดเขตพื้นที่การระบาด และจัดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อได้เข้ารับการรักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุข
เมื่อพบแหล่งระบาดเป็นกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคำสั่งปิดเขตชุมชนหรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด
6. การให้ความช่วยเหลื่อประชาชน เมื่อได้มีคำสั่งและดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยการสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่ หรือจำกัดการเดินทางออกเข้าจากพื้นที่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม
7. กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน แยกตามพื้นที่ดังนี้
1) เส้นทางเข้าออกจังหวัดชายแดนใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ดังกล่าวต้องแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ คู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น
2) เส้นทางเข้าออกกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อทำงานเข้มเขตจังหวัดให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเพื่อทำงานข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและปลายทาง ส่วนประชาชนที่ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น เพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยของประชาชน และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
3) เส้นทางเข้าออกจังหวัดอื่นๆ การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางให้ดำเนินการเข้มงวด กรณีพบผู้เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้คุมไว้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนักหรือในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด
8. การปราบปรามผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้มงวดตรวจตราเพื่อปราบปรามมิให้มีการลักลอบหรือรวมกลุ่มมั่วสุมกระทำการที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเล่นการพนัน การเสพยาเสพติด การรวมกลุ่มในลักษณะที่จะนำไปสู่การแข่งรถในทาง หรือฝ่าฝืนเปิดดำเนินการของสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนดการห้ามการเปิดไว้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบเดินทาง หรือขนย้ายแรงงานต่างด้าว หรือรับแรงงานต่างด้าวที่ออกจากสถานที่พักคนงานตามที่ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ไว้แล้ว โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคัดกรองโรค เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนขึ้นใหม่ในพื้นที่อื่นๆ อาจต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
9. มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้คงพิจารณาดำเนินการมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขึ้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ เพื่อลดการเดินทาง และการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล โดยเฉพาะหน่วยงาน หรือสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
10. การงดจัดกิจกรรมทางสังคม ให้งดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อลดการติดต่อสัมผัสกันระหว่างบุคคลเป็นระยะเวลา 30 วัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว