นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และที่ ศบค.ได้ประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ที่เผยแพร่ผ่านเว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษานั้น เป็นการใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน สถานประกอบการ ที่พบว่ามีการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน ซึ่งยืนยันว่า "ไม่ได้ล็อกดาวน์"
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปมาตรการตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ให้มีการปฎิบัติเริ่ม 28 มิถุนายน 2564 อย่างน้อย 30 วัน ดังนี้
1. ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน
2. ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้าน
3. ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. งดการจัดกิจกรรมในพื้นที่ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ งดนั่งรับประทานในศูนย์อาหาร
4. งดกิจกรรมรวมกลุ่มที่เกิน 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
5. ตั้งจุดตรวจเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมถึงกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
"ข้อกำหนดที่เข้มข้น เป็นการยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยมีผลในพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงสูง สำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป ยังสามารถเดินทางและดำเนินกิจกรรมประจำวันตามปกติ และขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงนี้" นายอนุชากล่าว