พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) มีผล 28 มิ.ย.64 โดยกำหนดพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย เฉพาะในเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) และพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) เพื่อชะลอและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเร่งด่วนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้กำชับการปฎิบัติของหน่วยงานความมั่นคง สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่ ให้ประสานการปฎิบัติกับหน่วยงานทหาร สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และหน่วยที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมสนับสนุนกำลังเมื่อมีการร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) การควบคุมการปิดแคมป์แรงงานก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงานในเขต กทม. และปริมณฑล การตั้งจุดตรวจ จุดสกัดกับหน่วยร่วมปฏิบัติ เพื่อคัดกรองการเดินทางตามเงื่อนไขที่ ศบค. กำหนด ในเส้นทางเข้า-ออก จังหวัดชายแดนใต้, กทม. และปริมณฑล และเส้นทางเข้า-ออกจังหวัดอื่นๆ รวมถึงตรวจสอบสถานประกอบการ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่างๆ ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ประกาศ ข้อกำหนดของ ศบค. และคำสั่งจังหวัดที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงต่างๆ
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้กำชับให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องประสานการปฎิบัติกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ฝ่ายปกครอง หน่วยสาธารณสุข และหน่วยที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด สนับสนุนกำลังพลในการปฎิบัติภารกิจเมื่อมีการร้องขอ ควบคุมการปิดแคมป์แรงงาน และจำกัดพื้นที่การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างน้อย 30 วัน (เฉพาะ กทม.และปริมณฑล) ออกตรวจสอบการจำหน่ายอาหารหรือของร้านอาหารต่างๆ การเปิด-ปิดห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า ตามเวลาที่กำหนด การห้ามจัดกิจกรรมต่างๆ ตามเงื่อนไขที่ ศบค. และคำสั่งของจังหวัดที่เกี่ยวข้องได้กำหนด
"หากพื้นที่ใดมีการปล่อยปละละเลย ก็จะพิจารณาความบกพร่องทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาดต่อไป นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งข้อมูลมายังหมายเลขสายด่วน 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชม." รองโฆษก สตช.ระบุ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มีหนังสือวิทยุในราชการตำรวจด่วนที่สุดให้ บช.น. ภ.1-9 และ ตชด. ดำเนินการตามมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด/ข้ามพื้นที่ การควบคุมพฤติกรรมและกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และการละเมิดข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
ทั้งนี้ให้ บช.น. และ ภ.1-9 ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแคมป์คนงาน และพื้นที่ก่อสร้างในเขต กทม.จังหวัดปริมณฑล และการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ขอให้หน่วยปฏิบัติตามนโยบายและสั่งการ ศบค.เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้มาตรการควบคุมแคมป์คนงาน พื้นที่ก่อสร้าง และการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ กทม. จังหวัดปริมณฑล รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
บช.น. ภ.1 และ 7 จัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดร่วม และชุดสายตรวจร่วม เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ โดยบูรณาการกำลังกับฝ่ายปกครอง และ ศปม.เหล่าทัพ ที่รับผิดชอบพื้นที่ และให้ บช.น. จัดกำลังเข้าควบคุมทุกพื้นที่แคมป์คนงานหรือพื้นที่ก่อสร้างตามพื้นที่ที่ได้รับการแบ่งมอบ โดยให้ประสานชุดเฉพาะกิจด้านความมั่นคง ศปม.ที่รับผิดชอบแต่ละกลุ่มในเขต กทม. โดยให้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะจบภารกิจ
ให้ ภ.9 ประสานการปฏิบัติกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการจัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด และชุดสายตรวจร่วม เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายของประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยให้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะจบภารกิจ, ข้อมูลผู้ประสานงานแต่ละกลุ่มเขต บัญชีแคมป์คนงานพื้นที่ก่อสร้าง
ให้ บช.น. ภ.1, 7 และ 9 แจ้งกำชับและควบคุมการปฏิบัติของกำลังพลที่ปฏิบัติงานกรณีการปฏิบัติใดๆ ที่ยังไม่มีข้อกำหนดฯ รองรับ ให้ปฏิบัติในลักษณะการประสานขอความร่วมมือ และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง