นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากรายงานพบผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 1 ราย ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) นั้น เป็นการเชื่อมโยงมาจาก จ.นราธิวาส กล่าวคือ ผู้ป่วยชายในกรุงเทพฯ รายนี้ ทำงานในตลาดแห่งหนึ่ง และได้รับเชื้อจากลูกชายที่เดินทางจากนราธิวาสมาเยี่ยม ซึ่งในระหว่างที่ลูกชายมาเยี่ยมนั้นยังไม่แสดงอาการป่วย แต่เป็นระยะที่สามารถแพร่เชื้อได้ เมื่อลูกชายกลับไปที่นราธิวาสแล้ว เพิ่งแสดงอาการป่วย จึงไปตรวจที่ รพ.และพบว่าติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เบตา
จึงได้ทำการตรวจหาเชื้อของผู้เป็นพ่อ และพบว่าติดโควิดสายพันธุ์เบตาเช่นกัน ส่วนญาติอีก 2 ราย พบว่าติดเชื้อ แต่ยังอยู่ระหว่างการตรวจหาสายพันธุ์ไวรัส ขณะที่ผู้ร่วมงานอีก 6-7 คน ตรวจไม่พบเชื้อ
"ขณะนี้ ทั้งลูกและพ่ออยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่แล้ว ส่วนญาติ 2 คนของครอบนี้ กำลังตรวจสายพันธุ์ ขณะที่เพื่อนร่วมมงานอีก 6-7 คนไม่พบเชื้อ ดังนั้นรายนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่าติดมาจากลูกชายที่เดินทางมาเยี่ยมจากนราธิวาส แต่ระหว่างที่มาเยี่ยมยังไม่มีอาการ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้" นพ.ศุภกิจกล่าว
พร้อมระบุว่า หากในกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เบตาเพียงรายเดียว ก็เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์อยู่ แต่จากที๋ ศบค.ไม่ได้ห้ามการเดินทางของคนในประเทศอย่างเด็ดขาด ดังนั้นหากจะมีการพบผู้ติดเชื้อในสายพันธุ์นี้อีก ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งสายพันธุ์เบตานี้ความสามารถในการแพร่กระจายจะไม่มาก เว้นแต่อยู่ใกล้ชิดกันมากจริงๆ ที่น่าห่วงกว่าคือสายพันธุ์อัลฟา ที่กำลังเพิ่มสัดส่วนการระบาดมากขึ้นในประเทศ
อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์นี้พบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เบตาเพิ่มขึ้นอีก 89 ราย ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก กระจายอยู่ในสุราษฎร์ธานี 1 ราย, ยะลา 2 ราย, พัทลุง 1 ราย, กรุงเทพฯ 1 ราย และมากสุดที่นราธิวาส 84 ราย ขณะที่ยอดสะสมของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เบตาทั่วประเทศล่าสุดอยู่ที่ 127 ราย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศ ล่าสุด ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 27 มิ.ย.64 จะพบว่าสายพันธุ์ที่ระบาดมากสุดในประเทศไทยขณะนี้ คือ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) มีสัดส่วนถึง 80.1% รองลงมา คือ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 16.59% ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) มี 3.22%
แต่หากแยกเป็นในกรุงเทพฯ และภูมิภาค จะพบว่า ในกรุงเทพฯ สายพันธุ์อัลฟา มีสัดส่วนมากสุดที่ 67.51% รองลงมา คือสายพันธุ์เดลตา 32.39% และสายพันธุ์เบตา 0.10%
ส่วนในภูมิภาค พบสายพันธุ์อัลฟา มีสัดส่วนมากสุดเช่นกันที่ 87.61% รองลงมา คือ สายพันธุ์เดลตา 7.34% และสายพันธุ์เบตา 5.05% ซึ่งพบอยู่เฉพาะทางภาคใต้
"ถ้าสัดส่วนยังเป็นแบบนี้ คาดว่าอีก 2-3 เดือน ในกรุงเทพฯ สายพันธุ์เดลตา จะมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา เราจะตามข้อมูลไปเรื่อยๆ แต่ถ้าดูจากอัตราการเพิ่มแบบนี้ เดลตาจะแซงอัลฟา...ตอนนี้ในต่างจังหวัดประมาณ 90% ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา ส่วนสายพันธุ์เดลตาในต่างจังหวัดยังมีน้อย แต่จะเยอะที่กรุงเทพฯ ขณะที่สายพันธุ์เบตา ยังเพิ่มขึ้นช้าๆ แต่อยู่เฉพาะในพื้นที่นราธิวาส" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุขเช้านี้ ได้มีการหารือถึงประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังไปเมื่อเดือนเม.ย. - พ.ค.ที่ผ่านมา ฐานข้อมูลของผู้ที่ได้รับวัคซีนจึงอาจจะยังไม่มากพอจะใช้เป็นบทสรุปในภาพรวมได้ ซึ่งขณะนั้นในประเทศยังเป็นการระบาดของไวรัสสายพันธุ์อัลฟาเป็นส่วนใหญ่ สายพันธุ์เดลตายังมีน้อย โดยจากข้อมูลพบว่าเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนซิโนแวก ครบ 2 เข็ม ในระยะเวลา 14 วันขึ้นไปแล้ว สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับ 70-90% แต่หากฉีดเพียงเข็มเดียว จะป้องกันการติดเชื้อได้เพียง 40%
"อาจจะต้องรอข้อมูลในเดือนมิ.ย.ต่อไป เพื่อติดตามประเมิน เพราะช่วงมิ.ย. จะเริ่มมีข้อมูลจากสายพันธุ์เดลตา ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมประสิทธิผลของแอสตร้าเซนเนก้า จะมารายงานให้ทราบอีกที" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุ
ส่วนความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนซิโนแวกในเข็มที่ 3 หรือไม่นั้น ขณะนี้กำลังติดตามหาข้อมูลให้เพียงพอ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความจำเป็นด้วย
"บางวัคซีน ฉีด 3 เข็มดีกว่าฉีดแค่ 2 เข็มแน่นอน แต่ก็ต้องดูด้วยว่ามีความจำเป็นแค่ไหน ตอนนี้เราเพาะเชื้อเดลตา กับเบตาได้แล้ว แต่ยังมีน้อยอยู่ ถ้ามีมาก จะเทสต์ในห้องทดลองก่อน แล้วค่อยไปทำข้อมูลจริงมาประกบกัน...เข็ม 2 ยังเอาอยู่ ณ สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดในสายพันธุ์อัลฟามากกว่า แต่ถ้ามีเดลตาปนเข้ามาเยอะขึ้น การป้องกันการติดเชื้อจะลดลงหรือไม่ ยังเป็นคำถาม ขอรอดูข้อมูลที่จะออกมาในเดือนมิ.ย.ก่อน ถ้าลดติดเชื้อได้ 60-70% ถือว่าโอเคแล้ว" นพ.ศุภกิจกล่าว