ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง รัฐต้องปรับปรุงอะไร ช่วงโควิด กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานครโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 2,574 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.2 ระบุหนุนเสริมความร่วมมือจิตอาสา งบประมาณ อุปกรณ์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เช่น แพทย์ พยาบาล อสม. เป็นต้น รองลงมาคือ ร้อยละ 94.1 ระบุใช้ค่ายทหาร (Army Land) เป็นศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 ระบุ ปรับปรุงเรื่องการสื่อสารของภาครัฐ ลดความสับสนของประชาชน ร้อยละ 91.6 ส่งเสริมเปิดพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนคู่ควบคุมโรคเข้ม เช่น ตลาดสด รถพุ่มพวง การเปิดบริการตลาดเฉพาะจุด เป็นต้น และร้อยละ 90.1 ระบุ เปิดพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะกลุ่มคู่ควบคุมโรคเข้ม ตามเหมาะสมกลุ่มธุรกิจ ตามลำดับ
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.4 ได้รับความเสียหายมากถึงมากที่สุด จากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบนี้ รองลงมาคือ ร้อยละ 35.7 ได้รับความเสียหายระดับปานกลาง และเพียงร้อยละ 3.9 ได้รับความเสียหายน้อยถึงไม่เสียหายเลย และเมื่อแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มอาชีพค้าขายได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุดสูงถึงร้อยละ 68.5 รองลงมาคือกลุ่มอาชีพเจ้าหน้าที่รัฐร้อยละ 63.3 เกษตรกรร้อยละ 60.9 กลุ่มเอกชนร้อยละ 57.4 และกลุ่มร้บจ้าง ร้อยละ 53.3 ที่ได้รับความเสียหายมากถึงมากที่สุด
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า กลุ่มค้าขายเป็นกลุ่มอาชีพที่ รัฐควรให้ความสำคัญเร่งด่วนมีมาตรการเยียวยาเฉพาะ โดยเฉพาะกลุ่มค้าขาย ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบฐานภาษีของรัฐ ส่วนผู้ที่อยู่นอกระบบฐานภาษี ควรได้รับการดูแลระดับรอง เพื่อรองรับผลกระทบในระบบตามความเป็นจริงอย่างเป็นธรรม และควรใช้โอกาสนี้ กำหนดมาตรการที่ชัดเจนขึ้น ในการดึงผู้ประกอบนอกระบบเข้าสู่ระบบฐานภาษีอย่างจริงจัง เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึงเป็นธรรม
ผลสำรวจครั้งนี้พบด้วยว่า แม้แต่กลุ่มอาชีพเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้รับความเสียหายมากถึงมากที่สุดในระดับต้น ๆ เช่นกัน โดยคนกลุ่มนี้อยู่ในระบบฐานภาษีทั้งหมดที่ไม่ควรถูกมองข้าม
"แนวทางแก้ปัญหาสำคัญมีอย่างน้อย 3 ประการคือ ประการแรกได้แก่ รัฐบาลควรนำข้อมูลจากกลุ่มแพทย์และเจ้าหน้าที่รัฐด่านหน้าระดับพื้นที่ มาพิจารณาออกแบบตอบโจทย์ตรงเป้า ตามความต้องการ โดยแก้ให้ตรงจุดแท้จริง ประการที่สอง ได้แก่ กระตุ้นพื้นที่เศรษฐกิจระดับชุมชนฐานราก ใช้การขนส่งภาครัฐและเอกชนเข้าช่วยลำเลียงกระจายผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าอื่น ๆลงพื้นที่ถึงตลาดสด รถพุ่มพวง เพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานรากช่วยพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย มากกว่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว และประการที่สามได้แก่ การสื่อสารภาครัฐมุ่งเน้นสองเรื่องคือ เรื่องปากท้อง และควบคุมโรค ให้เป็นทิศทางเดียวกัน ลดความสับสนของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาต่ออำนาจรัฐในเวลานี้" ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว