นพ.ยง ชี้ยอดผู้ติดโควิดสูงขึ้นเร็วจากสายพันธุ์เดลตามาแทนที่ แนะเร่งฉีดวัคซีนเร็วสุด

ข่าวทั่วไป Monday July 5, 2021 08:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แพร่กระจายได้เร็วมาก เพราะติดต่อง่าย จึงทำให้สายพันธุ์นี้ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และจะครอบคลุมทั้งโลกสำหรับประเทศไทย สายพันธุ์นี้จะมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษหรือแอลฟา ภายในเดือนนี้ เพราะติดต่อและระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ จะทำให้ตัวเลขสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

วัคซีนทุกชนิด พัฒนามาจากสายพันธุ์เดิมตั้งแต่อู่ฮั่น ไวรัสก็มีการพัฒนามามากพอสมควร จึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง วัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันสูง การลดลงก็ยังทำให้พอจะป้องกันได้ดีกว่า ส่วนวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ต่ำกว่า ก็จะทำให้การป้องกันได้น้อยลงไปอีก

นพ.ยง ระบุว่า การพิจารณาศึกษาวิจัยอย่างรวดเร็ว ทั้งชนิดของวัคซีนและการฉีด รวมทั้งระยะห่างของวัคซีนที่จะใช้ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับให้เหมาะสมที่จะให้ได้ผลสูงสุดตามทรัพยากรที่มีอยู่ และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในประเทศไทย สิ่งที่ทำวันนี้ว่าเหมาะสม อาจจะไม่เหมาะสมในอีก 1 เดือนข้างหน้า หรือยิ่งนานไป ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอีก การฉีดวัคซีนสลับระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 หรือการให้ในเข็มที่ 3 กระตุ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาว่ารูปแบบใดจะให้ผลสูงสุด

การเพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีน มีความจำเป็นที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น และรอจนกว่าจะมีวัคซีนที่ใช้สายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด อย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็จะได้ผลประโยชน์สูงสุด

ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ เมื่อมีวัคซีนอะไร ก็ควรฉีดเข้าร่างกายให้เร็วที่สุด อย่างน้อยก็มีภูมิต้านทานขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิตไว้ก่อน จนกว่าจะมีวัคซีนที่นำมากระตุ้นให้ได้ภูมิคุ้มกันสูงสุด เร็วที่สุด และรอวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดหรือคาดว่าจะระบาดในปีต่อไป

ถ้าไวรัสนี้ยังมีการระบาดมากในโลก ก็จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ

ทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนมากกว่า 10,000 ล้านโดสภายในปีนี้ และยังต้องการวัคซีนมากระตุ้นอีกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อีกต่อไป จึงทำให้วัคซีนไม่เพียงพอกับประชากรโลก ประเทศผู้ผลิต หรือประเทศพัฒนาแล้ว จะมีความได้เปรียบกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ