พ.ต.อ.มงคล อ่อนแก้ว ผกก.สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ เปิดเผยผ่านสถานีโทรทัศน์เช้านี้ว่า สถานการณ์เหตุเพลิงไหม้โรงงานเม็ดพลาสติกของ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ที่ตั้งอยู่บนถนนกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหล่อเลี้ยงไฟไม่ให้ปะทุขึ้นมาอีก หลังจากตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาจนถึงช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.00 น.ของวันนี้ ยังมีไฟปะทุเป็นระยะ เนื่องจากยังมีความร้อนสะสมอยู่จำนวนมากพร้อมปะทุขึ้นมาได้ตลอดเวลา ดังนั้น เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจึงยังพยายามช่วยควบคุมสถานกาณ์ด้วยโฟมดับเพลิง
รายงานข่าวจาก จ.สมุทรปราการ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่วางใจบริเวณที่เกิดเหตุ เนื่องจากภายใต้ซากปรักหักพังของโครงสร้างโรงงานเต็มไปด้วยสารเคมีไวไฟทั่วบริเวณเกิดเหตุ และมีไฟปะทุขึ้นมาพร้อมกลุ่มควันเป็นระยะ ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องฉีดเคมีโฟมหล่อเลี้ยงไว้ ขณะที่เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ นำเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศมาวัดค่าอากาศ เบื้องต้นยังไม่พบว่าค่าเกินกว่ามาตรฐาน
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมฯจะกับกำกับดูแลอย่างเข้มงวดต่อการประกอบกิจการโรงงานในลักษณะเดียวกับบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด โดยให้แต่ละโรงงานจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงทุก 5 ปี ซึ่งในกรณีของโรงงานหมิงตี้นี้ ทางกรมฯ มีข้อมูลแบบแปลนโรงงาน ผังการเก็บเครื่องจักร ตลอดจนที่ตั้งแท้งค์เก็บสารเคมีต่างๆ ซึ่งพบว่าถังเก็บสารเคมี "สไตรีนโมโนเมอร์" ที่เป็นถังหลักยังมีความปลอดภัยไม่มีปัญหาจากการระเบิด แต่อาจมีปัญหามาจากถังเล็กที่เก็บสารเคมีตัวอื่นๆ ที่ใช้ประกอบการผลิตเม็ดโฟม
สำหรับการต่อใบอนุญาตโรงงานนั้น เดิมจะต้องมีการต่อทุกๆ 5 ปี แต่เนื่องจากกฎหมายใหม่นี้จะไม่มีการหมดอายุแล้ว สามารถประกอบกิจการได้จนกว่าจะเลิกโรงงาน ทั้งนี้ ยอมรับว่ากรมฯ เคยผลักดันให้คงเรื่องการต่ออายุไว้ แต่ในเมื่อกฎหมายใหม่ปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบที่ไม่ต้องต่ออายุใบอนุญาตก็จะต้องปรับกระบวนการตรวจสอบโรงงานให้เข้มงวดมากขึ้น และให้โรงงานจัดทำแบบประเมินตนเอง ซึ่งขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎหมายลูก
นายประกอบ ยอมรับว่า กรณีโรงงานหมิงตี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะมีแนวทางให้โรงงานกับชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ก็ตาม แต่หากเป็นโรงงานที่มีความเสี่ยง จะต้องมีการกำหนดให้อยู่ห่างจากพื้นที่ชุมชนอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขออนุญาตตั้งโรงงานได้ แต่ในกรณีนี้โรงงานเกิดขึ้นก่อน และภายหลังชุมชนได้ขยายเข้ามาใกล้โรงงาน
"หากเป็นโรงงานที่เสี่ยง ต้องมีแนวทางให้อยู่ห่างไกลชุมชน และมีผังเมืองกำหนด ถ้าไม่ห่างไกลชุมชนจะไม่สามารถขออนุญาตตั้งได้อยู่แล้ว แต่ที่ทราบคือ ชุมชนได้ขยายเข้ามาจนใกล้โรงงานเขา เราได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้มีความปลอดภัย ที่ผ่านมาเราไม่ได้นิ่งนอนใจกับโรงงานขนาดนี้ ได้ทำเงื่อนไขการปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้น" อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว
อย่างไรก็ดี มีการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ที่ราว 700 ล้านบาท แต่ปัจจุบันในส่วนของโรงงานไม่ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อจะนำมาใช้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย ซึ่งกรมฯ จะพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับใช้กับเหตุฉุกเฉินในลักษณะเช่นนี้ต่อไปในอนาคต