ศบค.รอผลศึกษาฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 ข้ามชนิดก่อนพิจารณาให้ทำได้หรือไม่

ข่าวทั่วไป Wednesday July 7, 2021 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดซื้อวัคซีนซิโนแวกเพิ่มเติมว่า ศบค.อยู่ระหว่างรอผลศึกษาการฉีดวัคซีนข้ามชนิดระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ก่อนจะพิจารณาว่าจะให้ดำเนินการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวกยังมีประสิทธิภาพ และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะได้รับมอบเข้ามาก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ขณะที่วัคซีนยี่ห้ออื่นยังไม่สามารถจัดหาเข้ามาได้ในช่วงเวลานี้

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่เข้ามาจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อนหรือไม่นั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาสัดส่วนการจัดสรรที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลคำนึงถึงขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางแพทย์ที่อยู่หน้างาน และสิ่งสำคัญ คือ วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกที่ได้มาเป็นวัคซีนที่บริจาคก็ต้องแบ่งสัดส่วนไปให้คนต่างชาติตามที่ผู้มอบได้ระบุไว้ด้วย เพราะหากฉีดคนไทยทั้งหมดอาจกระทบกับความรู้สึกของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือมีครอบครัวในประเทศไทย

สำหรับกรณีที่สถิติการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ของประชาชนยังไม่ถึง 50% นั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในข้อกำหนดระบุไว้ว่าให้คณะรัฐมนตรี Work from Home เต็มขีดความสามารถ แต่บางหน่วยงานราชการยังคงต้องมาทำงานตามปกติเพื่อให้บริการประชาชนหรือฝ่ายความมั่นคงก็ยังจำเป็นที่จะต้องมาทำงาน แต่ ศบค.ได้เน้นย้ำว่าต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันยอมรับว่าเห็นใจภาคเอกชนบางส่วนที่ทำงานที่บ้านไม่ได้ ขณะที่บางส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

กรณีที่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนนัดติดโบว์ดำและสวมชุดดำในวันนี้เพื่อไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และยื่นรายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้เปลี่ยนวัคซีนหลักเป็น mRNA นั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง จำเป็นจะต้องสร้างขวัญกำลังใจ หากจะมองเรื่องหลักวิชาการทางการแพทย์อย่างเดียวคงไม่ทั่วถึง ซึ่งหากไม่ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ การปฏิบัติงานก็จะออกมาไม่ดี แต่ไม่สามารถใช้งบประมาณเงินกู้มาสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้

อย่างไรก็ตาม วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจะเข้ามาในเดือนนี้หรืออย่างช้าเดือนหน้า หากไม่มีอุปสรรคจะสามารถนำมาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้บริหารจัดการตามความจำเป็น ตามความเหมาะสม และตามความสมัครใจต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ