นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่ม "หมอไม่ทน" พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลพิจาณาให้วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นวัคซีนหลักในการควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมกันนี้ทางกลุ่มหมอไม่ทนได้ทำการยื่นหนังสือต่อพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาธิปปัตย์ และพรรคก้าวไกลด้วย
นพ.สันติ ระบุถึงข้อเรียกร้อง 2 ข้อสำคัญ คือ 1.ให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เช่น วัคซีนของไฟเซอร์ และวัคซีนของโมเดอร์นา เป็นต้น โดยต้องลดขั้นตอนการดำเนินการให้กระชับเร็วที่สุด และพิจารณาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ให้เป็นวัคซีนหลักในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และต้องบริการฉีดให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ครอบคลุมหลากหลายสายพันธุ์ สามารถลดอาการป่วยหนัก และอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ และ 2.ต้องเผยแพร่ข้อมูลกระบวนการการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นปัจจุบัน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ กลุ่มภาคีเครือข่ายฯ และกลุ่ม "หมอไม่ทน" ได้ทำการรวบรวมรายชื่อจากทั้งภาคประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนทั้งหมด 215,409 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว
ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากกลุ่มไทยไม่ทน พร้อมกล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์หลายคนยังติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้จะได้รับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 แล้ว ดังนั้นวัคซีนเข็ม 3 ที่เป็นชนิด mRNA เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้
ทั้งนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนบริษัทผลิตวัคซีนในประเทศไทย หรือหากไม่สามารถสนับสนุนบริษัทในประเทศได้ทัน ก็ควรเร่งจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชน
ด้าน นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ เลขานุการคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีความยินดีที่ "กลุ่มหมอไม่ทน" มายื่นหนังสือเรียกร้อง เนื่องจากโรคโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งวัคซีนที่เคยมีประสิทธิภาพก่อนหน้านี้อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ดังนั้นรัฐบาลควรติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง และจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนโดยเร่งด่วน
"วัคซีนไม่ควรมีการแบ่งว่าเป็นวัคซีนทางหลัก วัคซีนทางเลือก ประชาชนทุกคนควรได้เลือกชนิดของวัคซีนที่ต้องการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ" นพ.บัญญัติ กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มภาคีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่ม "หมอไม่ทน" ยังได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้กับพรรคก้าวไกล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังรับมอบหนังสือว่า มีความกังวลเรื่องแผนการจัดเก็บรักษา และการกระจายวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ประเทศไทยยังไม่คุ้นเคย เนื่องจากใน พ.ร.ก.กู้เงินฯ มีงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทสำหรับการจัดสรรวัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยขณะนี้ได้รับข้อมูลว่ามีตู้จัดเก็บวัคซีนเพียง 1 ตู้ (มูลค่า 1.6 ล้านบาท) ที่สามารถจัดเก็บวัคซีนในอุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียสได้ ดังนั้นหากรัฐบาลมีข้อมูลนอกเหนือจากนี้ ควรนำมาเปิดเผยแก่ประชาชน เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในการจัดเก็บวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่จะนำเข้ามาในอนาคต
ด้านนายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วม (วิป) ฝ่ายค้าน กล่าวภายหลังรับหนังสือเรียกร้องจากกลุ่มภาคีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข และ "กลุ่มหมอไม่ทน" ว่า รายชื่อที่กลุ่มหมอไม่ทนรวบรวมมาจะไม่สูญเปล่า โดยพรรคเพื่อไทยจะรับข้อเรียกร้องนี้เพื่อไปดำเนินการต่อ เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีญัตติด่วนในสภาฯ ทั้งหมด 6 ญัตติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการอภิปรายไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 64 โดยในวันพรุ่งนี้(8 ก.ค.) จะมี ส.ส.ที่จองอภิปรายเพื่อเสนอความเห็นอยู่กว่า 30 คน ดังนั้นประเด็นข้อเรียกร้องจากภาคีเครือข่ายฯ และกลุ่มหมอไม่ทน จะถูกนำเสนอต่อสภาฯ อย่างแน่นอน หลังจากนี้ สภาฯ จะมีมติเพื่อส่งต่อข้อเรียกร้องนี้ให้รัฐบาลเพื่อไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ และกลุ่มหมอไม่ทน จะเข้ายื่นหนังสือต่อกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และจากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน บริเวณสำนักงาน ก.พ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล