นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center: EOC) กระทรวงสาธารณสุขมีมติให้มีการกำหนดแนวทางการใช้การตรวจหาแอนติเจนโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจหาเชื้อโควิด
เนื่องจากปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน คือวิธี RT-PCR (Real-time Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction) แต่ละรอบใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง โดยทั่วไปสามารถออกผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณจำนวนสิ่งส่งตรวจ จำนวนบุคลากรและเครื่องตรวจ
แม้ว่าขณะนี้มีเครือข่ายห้องปฏิบัติการ 335 แห่งที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ในบางพื้นที่ บางช่วงเวลา ยังพบว่ามีผู้รอคิวเข้ารับการตรวจจำนวนมาก หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ได้
แนวทางการตรวจ Rapid Antigen Test มีดังนี้
1. ชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
2. ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ใช้โดยสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองทางห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
3. ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจากการแหย่จมูกตามที่ชุดตรวจกำหนด
4. ผู้ป่วยที่มีอาการให้พิจารณาการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ก่อน
5. กรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากให้ใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ถ้าให้ผลบวกให้ตรวจยืนยันด้วย RT-PCR
6. ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการให้ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ Rapid Antigen Test
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้ชุดตรวจ Antigen test แบบ Home use หรือชุดทดสอบด้วยตนเอง (Self test) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพิจารณาแนวทางการดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินการ มีความเหมาะสม ปฏิบัติได้จริง เกิดประโยชน์ และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด นอกจากนี้กำลังพิจารณาการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ร่วมกับการใช้วิธีอื่นๆ เช่น การตรวจน้ำลาย, การตรวจแบบรวมตัวอย่าง (Pooled Samples) เป็นต้น