ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด โดยจะจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุด รวมทั้งกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน เป็นเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.นี้ ควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยา
"หลักคิดเบื้องต้น คือ มีการจำกัดการเคลื่อนย้าย หรือการรวมกลุ่มบุคคลเฉพาะพื้นที่ หรือหลายท่านคุ้นเคยกับคำว่า ล็อกดาวน์ อันที่ 2 มีการกำหนดเวลาออกนอกเคหะสถาน หรือ เคอร์ฟิว...ล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่ใช่ทั่วทั้งประเทศ และการจำกัดเคลื่อนย้ายประชาชน เน้นพื้นที่สูงสุดเข้มงวด 10 จังหวัด"พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
มาตรการที่กำหนด ได้แก่
1.จำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด เฉพาะกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล
- กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนใช้การปฏิบัติงานในลักษณะ Work From Home ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน
- ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการได้ในห้วงเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ทั้งนี้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้าน โดยเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
- สวนสาธารณะ สามารถเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี ที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
- สถานศึกษาใช้การเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
2. ให้บุคคลงดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี
3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค.ที่ได้มีประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้
4. กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (DMHTTA) อย่างสูงสุด
5. ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.64 เป็นต้นไป และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์ต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
6. ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.64 เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้กรณีตรวจพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตามแห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
ทั้งนี้ ศบค.เห็นชอบให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.64 พร้อมทั้งการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ตามข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนี้
- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด (คงเดิม)
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 24 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 19 จังหวัด)
- พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 25 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 16 จังหวัด)
- พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 18 จังหวัด (ลดลง 29 จังหวัด)
สำหรับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล
1.กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน, กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล เร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ
2.กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดนำระบบการแยกกักแบบการแยกกักที่บ้าน (HI : Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (CI : Community Isolation) รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น มาเสริมเพิ่มมาตรการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทดแทนการขาดแคลนเตียงพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ
3.กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้ง ICU สนาม และ รพ.สนาม รวมถึง รพ.สนามชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และมีจำนวนมากพอ
4.กระทรวงสาธารณสุขปรับแผนการกระจายวัคซีน และเร่งการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
5.ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ในการป้องกันส่วนบุคคล การตรวจหาเชื้อ และการรักษาพยาบาล ให้มีประสิทธิภาพ
6.ให้ ศบศ. เร่งรัดกำหนดมาตรการเยียวยาสถานประกอบการหรือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดมาตรการในครั้งนี้ ตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่
ส่วนการปฏิบัติในจังหวัดอื่น ได้แก่
1.กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันรับผิดชอบการกำหนดมาตรการคัดกรองและมาตรการติดตามบุคคลที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ทั้งนี้ให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.64 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป โดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนด ฉบับที่ 25
2.ให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์ต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24, 25, 26) มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้