(เพิ่มเติม) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 8,656 ราย ในปท.6,044 -ตรวจเชิงรุก2,588-ตปท.24,ตาย 80

ข่าวทั่วไป Monday July 12, 2021 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 8,656 ราย ในปท.6,044 -ตรวจเชิงรุก2,588-ตปท.24,ตาย 80
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,656 ราย ส่วนใหญ่มาจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ประกอบด้วย
  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,044 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,515 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 73 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 24 ราย โดยยังพบการเดินทางเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย แยกเป็นเพศชาย 37 ราย เพศหญิง 43 ราย อายุระหว่าง 30-94 ปี ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 66 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในกทม.ถึง 44 ราย, สมุทรปราการ 6 ราย, ปัตตานี 5 ราย, ปทุมธานีและสมุทรสาคร จังหวัดละ 3 ราย, ยะลาและกำแพงเพชร จังหวัดละ 2 ราย, เชียงราย เพชรบุรี กาญจนบุรี ภูเก็ต นครนายก ชลบุรี พิจิตร สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อยุธยา อ่างทอง อุตรดิตถ์ สมุทรสงคราม และอุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ความดัน, เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 345,027 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 251,658 ราย เพิ่มขึ้น 3,687 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 2,791 ราย

ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่ 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 2,399 ราย, สมุทรสาคร 591 ราย, สมุทรปราการ 405 ราย, ชลบุรี 399 ราย, ปทุมธานี 397 ราย, นครปฐม 315 ราย, นนทบุรี 313 ราย, ปัตตานี 215 ราย, ยะลา 201 ราย และสงขลา 188 ราย

ทั้งนี้ ในต่างจังหวัดพบคลัสเตอร์ใหม่ที่ จ.ชลบุรี ที่ตลาดสดรัตนากร อ.ศรีราชา พบผู้ติดเชื้อ 29 ราย, จ.ปทุมธานี ที่บริษัทผลิตอุปกรณ์แก๊ส อ.ลำลูกกา พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย, จ.สุราษฎร์ธานี ที่โรงพยาบาลเอกชน อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย, จ.นครศรีธรรมราช ที่ร้านอาหาร อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย, จ.กาญจนบุรี ที่ตลาดสายหยุด อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย, จ.ปราจีนบุรี ที่บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย, จ.ตาก ที่บริษัทชิปปิ้ง อ.แม่สอด พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการหารือแผนปฏิบัติการป้องกันโควิดเชิงรุกในกทม. โดยรองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้มีการรายงานสถานการณ์ล่าสุด ซึ่งพบว่า ยังมีความต้องการเตียงสูงมาก และในขณะนี้มีผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดงมีความต้องการเตียงอย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องขอสงวนเตียงเหลือง เตียงแดง รองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเข้ารักษาในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ในชุมชนจะมีการจัดทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ 200 ทีม ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรทางแพทย์ บุคลากรฝ่ายมั่นคง เจ้าหน้าที่เขต โดยมีหน้าที่ค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนให้มากขึ้น และใช้วิธีการตรวจแบบ Rapid Antigen Test และหากเป็นผู้ป่วยต้องการรักษาในระดับสีเขียว จะใช้วิธีการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่ถ้าเป็นกลุ่มก้อนจะพักอยู่ในโรงพยาบาลสนามชุมชน แต่หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น และเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวจะมีการประสานการส่งต่อ เพื่อให้ได้เข้ารับการรักษาอย่างปลอดภัย

พญ.อภิสมัย ชี้แจงถึง การใช้วิธีการตรวจแบบ Rapid AntigenTest โดยปกติในโรงพยาบาลจะใช้ในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด แต่การตรวจลักษณะนี้มีความแม่นยำต่ำจึงไม่ได้มีการแนะนำมาใช้ก่อนหน้านี้

"แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มีต้องการการตรวจมากขึ้น การติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หากรอผลการติดเชื้อ 1-2 วัน อาจทำให้การควบคุมโรคไม่มีประสิทธิภาพ ทางปลัดสาธารณสุขมีการทบทวนการนำ Rapid AntigenTest ที่มีมาตรฐานยอมรับได้มาหารือกัน และจะอนุญาตให้ประชาชนให้ได้"พญ.อภิสมัย กล่าว

ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า Rapid AntigenTest ที่นำมาใช้มีความหลากหลายทั้งแบบตรวจหาเชื้อ หรือซากเชื้อ หรือเป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงแนวทางตรวจแบบ Rapid AntigenTest ในช่วงบ่ายวันนี้

อย่างไรก็ตาม โดยหลักการการตรวจแบบ Rapid Antigen Test ถ้าหากเริ่มติดเชื้อ ผลตรวจอาจออกมาเป็นลบ แต่อย่านิ่งนอนใจ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ที่การสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้า และระหว่างเฝ้าระวังอาการต้องมีการแยกกักตัวเอง และทางสาธารณสุขแนะนำให้มีการตรวจซ้ำในวันที่ 5 ถึงวันที่ 7 เพราะเชื้ออาจมีประมาณมากขึ้น และผลตรวจแบบ Rapid AntigenTest อาจเป็นบวกได้ และเมื่อตรวจพบว่าเป็นบวกให้ติดต่อไปที่ 1330 เพื่อเข้าระบบ เข้าระบบและนำไปสู่การรักษาที่ปลอดภัย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทางศบค.ขอความร่วมมือให้หน่วยฉีดวัคซีนทั้งในกทม.และปริมณฑล เร่งระดมการฉีดผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวใน 7 โรคหลัก ภายใน 2 อาทิตย์นี้ ซึ่งทางกทม.รายงานว่า มีการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวใน 7 โรคหลัก ได้วันละ 6,000 รายเป็นอย่างต่ำและจะเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ทั้งนี้ แม้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส อาจจะมีความเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อได้ และถ้าฉีดวัคซีนแล้วมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้หรือไม่นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงแล้วว่า ยังมีความเป็นไปได้

นอกจากนี้ ทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการรายงานการดำเนินการโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และขอความร่วมมือประชาชนที่จะเข้ามายังจ.ภูเก็ตใช้มาตรฐานเดียวกันนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า คือ ต้องรับวัคซีนครบ 2 โดสเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน, ต้องมีการยืนยันผลการตรวจโควิดด้วยวิธี Anitgen Test หรือ RT-PCR เท่านั้น, ต้องดาวน์โหลดแอพฯหมอชนะ และยินยอมให้แชร์โลเคชั่นตลอดเวลาที่อยู่ในภูเก็ต, ต้องแสดงเอกสารหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่พนักงานกรมควบคุมโรคติดต่อ ก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มาตรการยกระดับคุมเข้ม การระบาดโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยงที่เริ่มบังคับใช้วันนี้ คาดหวังว่า จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ หรือผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มที่ลดลง แต่ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน และขอให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ทั้งบุคลากรทางแพทย์ และบุคลากรฝ่ายความมั่นคงที่จะสามารถบังคับใช้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 187,632,756 ราย เสียชีวิต 4,049,071 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,732,753 ราย อันดับ 2 อินเดีย 30,873,907 ราย อันดับ 3 บราซิล 19,089,940 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 5,812,639 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 5,783,333 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60


แท็ก เรือนจำ   ศบค.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ