สธ. ให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit คัดกรองโควิดเบื้องต้น/จัด CCR Team ดูแลผู้ติดเชื้อ

ข่าวทั่วไป Monday July 12, 2021 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สธ. ให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit คัดกรองโควิดเบื้องต้น/จัด CCR Team ดูแลผู้ติดเชื้อ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะนำ ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการมารอตรวจหาเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก โดยระยะแรกจะใช้ในสถานพยาบาลก่อน ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิก หรือคลินิกต่างๆ และคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะวางจำหน่ายในร้านขายยา

อย่างไรก็ตามชุดตรวจ ATK ยังมีปัญหาอยู่ คือ การตรวจด้วยชุดตรวจให้ผลประมาณ 90% ซึ่งเมื่อทำการตรวจไม่ว่าพบผลเป็นบวก หรือลบ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการจะให้ใช้แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) ซึ่งทั้งสองรูปแบบจะมีทางสธ.จะเข้าไปดูแลติดตามอยู่เป็นระยะ

สธ. ให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit คัดกรองโควิดเบื้องต้น/จัด CCR Team ดูแลผู้ติดเชื้อ

ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเป็นผู้ตรวจให้เท่านั้น อย่างไรก็ตามทางอย. อยู่ระหว่างการเสนอพิจารณาการวางขายตามร้านขายยาที่มีเภสัชกร โดยคาดว่าจะอนุมัติสัปดาห์หน้าให้ประชาชนซื้อชุดตรวจไปตรวจเองได้

ในกรณีผลการทดสอบให้ "ผลบวก" ให้แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้านที่ติดต่อได้ และแยกกักตัวเองจากผู้อื่นเพื่อลดการแพร่เชื้อ เช่นแยกห้องน้ำ, ของใช้ส่วนตัว, หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา นอกจากนี้ต้องสังเกตอาการตนเอง และวัดอุณหภูมิเป็นประจำ ถ้ามีอาการหายใจลำบาก ควรติดต่อขอรับเข้าการรักษา นอกจากนี้ควรแจ้งผู้ใกล้ชิดกับตนเองให้ทราบความเสี่ยงจากการสัมผัส และควรได้รับการทดสอบการติดเชื้อต่อไป

กรณีผลการทดสอบให้ "ผลลบ" หากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง อาจอยู่ในระยะฟักตัว ควรทำการแยกตัว และทดสอบซ้ำอีกครั้งภายหลัง 3-5 วัน เนื่องจากชุดตรวจมีข้อจำกัดที่หากจำนวนเชื้อมีน้อยเกินไปอาจตรวจไม่พบเชื้อได้ ทั้งนี้หากปรากฏอาการของโควิด ควรทำการทดสอบซ้ำทันที และถ้ามีประวัติเสี่ยงสัมผัส ควรแยกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไว้ก่อน

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการกำหนดให้ประชาชนที่เสี่ยงติดโควิด-19 สามารถขอรับชุดตรวจตามสถานพยาบาลต่างๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามประชาชนไม่สามารถซื้อขายชุดตรวจผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากชุดตรวจเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทางอย.ต้องอนุญาตก่อน

"ส่วนราคาของชุดตรวจ Antigen Test Kit หากมีการวางขายในตลาด น่าจะเกิดการแข่งขันสูง ดังนั้นราคาของชุดตรวจไม่น่าจะแพงมาก อย่างไรก็ตามการใช้ชุดตรวจ ATK ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยังได้ผลลัพธ์ไม่แม่นยำเท่าการตรวจด้วยวิธี rRT-PCR หากผู้ป่วยมีอาการมากแนะนำให้ตรวจแบบ rRT-PCR" นพ.ศุภกิจ กล่าว

ทั้งนี้หลังจากการตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จะต้องทำการรายงานผล และมีการปฏิตนหลังทราบผล ดังนี้ ควรถ่ายรูปผลการทดสอบ พร้อมกับการระบุตัวตนของตัวอย่าง และวันที่ทดสอบ รวมทั้งควรรายงานผลกับหน่วยบริการสุขภาพ (หากมีการกำหนด)

ด้านนพ.โดเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิคหมอครอบครัว กล่าวว่า สาธารณสุขได้ร่วมมือกับทางกทม. และภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อจัดทำแนวทางการค้นหาเชิงรุกในเขตกทม. (Comprehensive Covid-19 Response Team-CCR Team) โดยจะดำเนินการในพื้นที่กทม.กว่า 200 พื้นที่ ในช่วงล็อกดาวน์อย่างน้อย 14 วัน

โดย CCR Team จะมีหน่วยบริการรวมทั้งหมด 188 ทีม แบ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ 178 ทีม, คลินิกชุมชนอบอุ่น และ CCR Team หลักอีก 10 ทีม โดยในแต่ละทีมจะมีสมาชิกประมาณ 8-10 คน ทั้งแพทย์, พยาบาลวิชาชีพ, นักวิชาการสาธารณสุข, หัวหน้าทีม, เครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครในพื้นที่, เจ้าหน้าที่จากเขตกทม. หรือทหารเพื่อประสานการลงพื้นที่

ทั้งนี้ทาง CCR Team จะเข้าไปทำหน้าที่ในเขตกทม. ดังนี้ 1. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านพร้อมงาน Home Health Survey ให้ความรู้ในการดูแลตนเองทั้งผู้ที่ติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ 2. เข้าไปดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการอยู่ในกลุ่มสีเขียว 3. ค้นหาและฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และ 4. การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเบื้องต้นด้วย Rapid Test นอกจากนี้ทางกลุ่ม CCR Team จะให้บริการประสานงานกับทางโรงพยาบาลหากผู้ป่วยอาการหนักด้วย

ทางด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งมอบวัคซีนไปยังจุดฉีดทั่วประเทศ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส ทั้งนี้การระบาดในกทม.ยังมีอัตราที่สูงอยู่ ดังนั้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้จะเร่งฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังเพื่อลดการป่วยหนักและลดการเสียชีวิต โดยสัปดาห์นี้จะทำการส่งวัคซีนในเขตกทม.จำนวน 7 แสนโดสใน 126 จุดฉีดในกทม. และ 21 จุดฉีดนอกโรงพยาบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ