กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดแนวมาตรการแยกกักตัวในเขตพื้นที่ชุมชน (Community Isolation) ผลักดันผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการรุนแรงเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับการกักตัวภายในชุมชน เพื่อลดปัญหาจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนทุกกลุ่มอายุที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้สามารถเข้าระบบการรักษาเร็ว
สถานที่สำหรับแยกกักตัวในชุมชน ควรมีลักษณะดังนี้
1. เป็นที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน แคมป์คนงาน หรือหมู่บ้านที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อ
2. ใช้กักตัวไม่เกิน 200 คน เพื่อลดความแออัด
3. มีสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ แยกน้ำเสีย หรือขยะออกจากชุมชนได้
Community Isolation มีเกณฑ์ปฏิบัติ ดังนี้
1. ผู้ติดเชื้อต้องสมัครใจ และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้
2. มีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวันโดยแพทย์ พยาบาลวันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน
3. ต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล (มีแผนขยายไปยังชุมชนอบอุ่น และสถานพยาบาลใกล้บ้าน)
4. จะมีการตรวจอุณหภูมิ และตรวจวัดออกซิเจนในเลือด โดยแนะนำวิธีทดสอบง่ายๆ ว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ คือให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังออกกำลังกาย หากออกซิเจนลดลงมากกว่า 3% จะให้ผู้ป่วยรักษาที่โรงพยาบาล
5. จัดเตรียมระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
ผู้ป่วยที่เข้าร่วมแยกกักตัวในชุมชนจะได้รับสนับสนุน ได้แก่ การวัดอุณหภูมิ การวัดออกซิเจนในเลือด การดูแลอาหารครบ 3 มื้อ และมีแพทย์พยาบาลติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ด้วยระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) นอกจากนี้จะดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยให้ทางโรงพยาบาลเมื่ออาการเปลี่ยนแปลงด้วย