นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ได้มีการประชุมถึงแนวทางการให้วัคซีนสลับชนิดกันอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลได้ขอให้พิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบ ภายหลังมีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตลอดจนการประชุมหารือของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในที่ประชุมยังยืนยันมติเดิมในเรื่องการให้วัคซีนสลับชนิดที่สามารถดำเนินการได้ โดยจะมีการนำเสนออีกครั้งในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) ด้วย
"พอผู้ใหญ่ทักมา ว่าให้เราดูข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ เพราะ WHO ออกมาพูด ซึ่งคณะกรรมการวิชาการ ก็นำเสนอต่อที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข และบ่ายนี้ ก็ประชุม ศบค.ของกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังมีมติในทิศทางเดิม คือควรได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างกัน 3-4 สัปดาห์ จะเสนอ ศบค.พรุ่งนี้ คาดว่าจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ หลายคณะกรรมการที่เห็นชอบตรงกันนี้ จะเริ่มดำเนินการได้ต้นสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป" นพ.โสภณ กล่าว
ส่วนที่หน่วยบริการวัคซีนบางแห่ง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด มีการฉีดวัคซีนสลับชนิดไปแล้วนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สื่อสารไปแล้วว่าแนวทางดังกล่าวไม่ได้ขัดกับมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพียงแต่เมื่อนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้มีการพิจารณาข้อมูลให้รอบคอบอีกครั้ง ซึ่งภายหลังคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ก็ยังคงยืนยันแนวทางการฉีดวัคซีนตามมติเดิม
"ดังนั้นเมื่อมีการนำมติดังกล่าวเข้าที่ประชุม ศบค.พรุ่งนี้ หากนายกฯ เห็นชอบแล้ว กระทรวงฯ จะแจ้งอย่างเป็นทางการอีกที ส่วนหน่วยที่ดำเนินการไปแล้ว หรือดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็ถือว่าดำเนินการตรงกับที่คณะกรรมการโรคติดต่อได้ให้มติไว้ตั้งแต่แรก" นพ.โสภณกล่าว
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น คณะกรรมการวิชาการได้พิจารณาแล้ว ยังใช้ได้ 2 วิธี คือ วิธีแรก ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า และวิธีที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งในวิธีที่ 2 นี้เหมาะจะใช้กับผู้สูงอายุมากกว่า แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้สูงอายุจะไม่สามารถฉีดวัคซีนซิโนแวคได้ เพราะขณะนี้ไม่มีข้อจำกัดนั้นแล้ว เป็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนในแต่ละพื้นที่ด้วย
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวในการประชุมเสวนาวิชาการ "วัคซีนโควิด-19 สำหรับสื่อมวลชน" ว่า ปัจจุบันการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ยังทำได้ไม่มากนัก โดยสามารถฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุไปได้ประมาณ 30% ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ฉีดไปได้ประมาณ 40% แต่คาดว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์จากนี้ จะสามารถระดมฉีดได้มากขึ้น เพื่อให้ได้ครอบคลุมอย่างน้อย 70%
การเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวถือว่ามีความจำเป็นมาก เพราะกลุ่มดังกล่าว หากได้รับเชื้อโควิดไปแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น จึงขอให้ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคไปขอรับการฉีดวัคซีนได้เลยในสถานพยาบาลที่มีประวัติการรักษาอยู่แล้ว
"ขอให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มไปขอรับการฉีดวัคซีนใน รพ.ที่มีประวัติการรักษาอยู่แล้ว หรืออีก 2-3 วัน ก็จะมีการเปิดลงทะเบียนไทยร่วมใจ ซึ่งเป็นการเริ่มลงทะเบียนใหม่ในผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคประจำตัว หรืออาจจะลงทะเบียนได้ที่ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งคาดว่า 2-3 วันนี้จะมีคำตอบ" นพ.พรเทพ กล่าว
พร้อมมองว่า เตรียมจะเสนอให้ลดขั้นตอนการรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในส่วนของการวัดความดันโลหิต เนื่องจากค่าความดันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฉีดวัคซีน ทั้งนี้เพื่อให้การรับบริการวัคซีนมีความสะดวก และรวดเร็วขึ้น
พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการฉีดวัคซีนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีว่า ข้อมูลทางวิชาการก่อนหน้านี้พบว่าเด็กมีโอกาสติดโควิด-19 ได้ยากกว่าผู้ใหญ่ แต่ภายหลังจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ทำให้เห็นการระบาดในกลุ่มเด็กเล็กมากขึ้น ดังนั้นผู้ปกครองจึงมีความต้องการให้บุตรหลานได้รับวัคซีนป้องกันโควิดกันมากขึ้น โดยในปัจจุบัน มีบางประเทศที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ ซึ่งมีอัตราการเกิด 1 ในหลายแสนคน หรืออย่างมากสุดไม่เกิน 1 ใน 50,000 คน
สำหรับในประเทศไทย การฉีดวัคซีนในเด็กก็จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักให้ดีเช่นกัน แม้จะพบว่าระยะหลังเริ่มเห็นเด็กติดเชื้อโควิดมากขึ้น อย่างไรก็ดี มองว่าในปัจจุบันประเทศไทยควรเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงเป็นลำดับแรกก่อน ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มี 7 กลุ่มโรคประจำตัว รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์
"กว่าที่จะฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ได้ครบถ้วน ก็คงจะอีกหลายเดือน เชื่อว่าคงจะทำให้มีข้อมูลมากขึ้นในการนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดให้แก่เด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ อยากเห็นการฉีดในกลุ่มผู้ใหญ่ก่อน" พญ.กุลกัญญากล่าว