นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในการสัมมนา "วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย"ว่า รัฐบาลควรจัดสรรเงินมาใช้บริหารจัดการเรื่องวัคซีนอย่างเต็มที่ เพราะจะเกิดความคุ้มค่าในการใช้เงินที่ได้ไปกู้มา ดีกว่านำไปใช้เยียวยาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจในภายหลัง
พร้อมมทั้งมองว่าการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วทุกพื้นที่ของประเทศอาจไม่ได้ผลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะในต่างจังหวัดที่เป็นพื้นที่เกษตรกรอาจไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องปริมาณวัคซีน การมุ่งฉีดเฉพาะพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจอาจเกิดประโยชน์มากกว่า
"การใช้เงินกู้ควรจัดลำดับความสำคัญ การกู้เงินไม่ใช่ปัญหา เอาไปจ่ายค่าวัคซีนดีกว่ารอให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจก่อน หากฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงก็สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องรอเปิดประเทศ" นายมนตรี กล่าว
สำหรับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจนั้น นายมนตรี คาดว่า จะกลับมาเติบโตเท่ากับเมื่อปี 62 ได้คงต้องรอจนถึงปลายปี 67 ซึ่งภาครัฐจะต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ด้านศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า จากข้อจำกัดในเรื่องปริมาณวัคซีนและการเข้าถึง ดังนั้นควรปรับแผนการฉีดวัคซีนให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความจำเป็น ซึ่งหากจะมีการปรับแผนฉีดวัคซีนตามความจำเป็นเพื่อให้เกิดประโยชน์นั้น รัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ
"ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนแตกต่างกันไป จะไปนับจำนวนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูความแออัด เรามีกระสุนจำกัดก็ต้องเลือกพื้นที่จำเป็น" นพ.นิธิ กล่าว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเตรียมการจัดหาวัคซีนที่มีความหลากหลายไว้ล่วงหน้าและต้องมีปริมาณให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ และเวชภัณฑ์จำเป็น เพื่อรองรับสถานการณ์ล่วงหน้าหากเกิดโรคอุบัติใหม่อีกในอนาคต เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ
นพ.นิธิ กล่าวถึงนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันของรัฐบาลนั้นมีความเป็นไปได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ส่วนการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มนั้นสามารถช่วยชะลอการแพร่ระบาดได้ตามหลักระบาดวิทยา แต่ต้องพิจารณาว่าจะล็อกดาวน์ได้นานแค่ไหน
ขณะที่นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การบริหารจัดการวัคซีนนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1.วัคซีนที่มีคุณภาพสูง 2.วัคซีนที่มีความหลากหลาย และ 3.แผนการจัดหาและฉีดวัคซีนที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการบริหารจัดการวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่ดีจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณากันมาก
"ทีมจัดหาวัคซีนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะกำลังการผลิตมีเพียง 3.6 พันล้านโดส ขณะที่มีประชากรทั่วโลกกว่า 7 พันล้านคน กว่ากำลังการผลิตจะเพียงพอต้องรอจนถึงปีหน้า และต้องมีการเจรจาไว้ก่อนล่วงหน้า เพิ่มช่องทางจัดหาให้มากที่สุด ต้องมีทีมจัดหานอกเหนือจากแพทย์ที่มีมุมมองอื่นมากขึ้น" นายสมชัย กล่าว
ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้ไปคงต้องพิจารณาว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แบบไหน ต้องมีการนำนวัตกรรมมาใช้ และต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การเปิดประเทศคงต้องค่อยเป็นค่อยไป จะให้เปิดเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 คงไม่ได้ และต้องใช้ความรอบคอบเนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้มีการแพร่ระบาดที่รุนแรง และต้องระวังไม่ให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น