ศ.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลงานสร้างชื่อล่าสุดของสถาบัน คือ ชุดตรวจโควิด-19 แบบรู้ผลเร็ว ซึ่งตอบโจทย์วิกฤติของประเทศและทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ จากคุณสมบัติพิเศษของชุดตรวจที่ใช้น้ำยาซึ่งสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ในขณะตรวจ โดยจะไม่ทำให้เชื้อแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมและรู้ผลการตรวจได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสามารถต่อยอดไปเป็นชุดตรวจสำหรับประชาชนทั่วไป (self test) ที่ใช้งานง่ายและสะดวก สามารถทำการตรวจได้ด้วยตนเอง คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายได้ในเดือน ส.ค.64 นี้
ทั้งนี้ สถาบัน iNT นับสนุนและดำเนินการให้ผลงานชุดตรวจโควิดแบบรู้ผลเร็วของภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการยื่นจดอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนจับคู่ทางธุรกิจกับภาคเอกชนนำไปสู่การพัฒนาจนได้รับการรับรอง นำไปสู่การพัฒนาจนได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้มาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะสามารถขยายตลาดไปสู่ในระดับภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป
ก้าวต่อไป มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะมุ่งวิจัยและพัฒนาชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันแบบยับยั้งที่เรียกว่า Neutralizing Antibody ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว หรือผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 มีภูมิต้านทานเพียงพอกับการป้องกันเชื้อไวรัสหรือไม่ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
โดยทางทีมผู้วิจัยหวังว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงการตรวจได้ง่าย ทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถวางแผนมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยรวมทั้งสังคม และเศรษฐกิจของประเทศชาติในทุกๆ ด้านอีกด้วย
ศ.นพ.ภัทรชัย กล่าวอีกว่า สถาบันฯ มุ่งผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีอาจารย์และนักวิจัยเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยทีมงานของสถาบัน iNT ได้ให้คำปรึกษาและประสานงานเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าต่อสังคม ได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและเข้าสู่กระบวนการการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้วยความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดลสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ในข้อที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) และในข้อที่ 9 : โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure)