นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณืโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ศบค.ได้มอบหมายให้แต่ละจังหวัดไปออกประกาศข้อกำหนดในรายละเอียดเฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการที่ ศบค.ได้ยกระดับความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากมีแบบจำลองคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นมากเป็นหลายหมื่นราย
ศบค. ระบุว่า สาเหตุที่ทางการต้องยกระดับมาตรการสกัดการแพร่ระบาด เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและทั่วโลกเกิดจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้จัดทำแบบพยากรณ์ด้วยแบบจำลองถึงสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย 2 รูปแบบ
แบบแรก มาจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการประเมินจากข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 17 ก.ค.64 ระบุว่าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อยกระดับมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดและปล่อยให้มีการติดเชื้อเรื่อยๆ กรณีแย่ที่สุด ในเดือน ต.ค.64 ประเทศไทยอาจจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 31,997 ราย/วัน แต่หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีอาจก็จะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 9,018-12,605 ราย/วัน ส่วนค่ากลางอยู่ที่ 9,695-24,204 ราย/วัน
"ดีที่สุดก็ยังแตะเป็นเลขหมื่น ถ้ามาตรการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว แล้วทุกคนร่วมมือกัน ค่ากลางที่เป็นค่าล่างก็ยังเรียกว่า ยังสูงอยู่ทีเดียว" น.พ.ทวีศิลป์ กล่าว
และจากการคาดการณ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นำไปอ้างอิง พบว่า กรณีที่ดีที่สุด หากประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ดี ตัวเลขการติดเชื้อจะเข้าสู่ช่วง Peak ที่ระดับประมาณ 1 หมื่นราย/วันในเดือน ส.ค.64 ก่อนจะเริ่มลดลงมาในช่วงเดือน ก.ย.64 แต่กรณีแย่ที่สุด หากการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน อาจจะมีผู้ติดเชื้อสูงมากกว่า 2.2 หมื่นกว่าราย/วันในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.64 ก่อนจะลดลงในช่วงเดือนต.ค.64 หากวัคซีนมาได้ตามกำหนดในไตรมาส 4/64
"จากปัจจุบันจะไต่ขึ้นไป โดยจะเห็นค่าไต่ขึ้นไปคล้ายๆตอนนี้เห็นภาพชัดประมาณหมื่นกว่า จะสูงเกินกว่า 15,000 ในช่วงเดือนสิงหาคมต่อกันยายน แต่ถ้าแย่ที่สุด จะสูงถึง 22,000 กว่าในช่วงสิงหาคมต่อกันยายน แล้วค่อยๆลงมาในเดือนตุลาคม หากวัคซีนมาได้ตามกำหนดในช่วงไตรมาส ที่ 4 อันนี้เป็นภาพฉายคาดการณ์ที่เราต้องรับทราบโดยทั่วกัน และต้องพยายามช่วยกันดึงกราฟ เพราะฉะนั้นดีที่สุดต้องป่วยน้อยที่สุดต่อวัน นี่คือสิ่งที่เป็นการคาดการณ์ของนักวิชาการทั้งหลาย"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ข้อกำหนดของแต่ละพื้นที่จะอยู่ภายใต้มาตรการที่ ศบค.ประกาศออกมาตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 28 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ดังนี้
- ห้ามออกนอกเคหะสถาน เวลา 21.00-4.00 น.
- ให้มีการ Work Form Home ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และให้เอกชน Work Form Home เต็มขีดความสามารถ ยกเว้นการบริการที่เกี่ยวกับสาธารณสุข การควบคุมโรค ระบบสาธารณูปโภค การจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่กำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า หากมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในที่ตั้งต้อง DMHTTA
- ลดการเดินทางในพื้นที่และงดการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่การเดินทางเพื่อซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การพบแพทย์ การรับวัคซีน
- ให้ใช้เอกสารรับรองการเดินทาง หรือ QR Code เพื่อใช้เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
- จำกัดจำนวนผู้โดยสารรถสาธารณะที่ใช้บริการไม่เกิน 50 % ของความจุยานพาหนะแต่ละประเภททุกพื้นที่ทั่วประเทศ
- ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการวมกลุ่มกันของบุคลที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน
- ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ห้ามทานในร้าน สามารถ take away ได้เท่านั้น และเปิดได้ถึง 20.00 น.
- ห้าง/ศูนย์การค้า/คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต ยาและเวชภัณฑ์ และพื้นที่การให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ของภาครัฐ และเปิดได้ถึง 20.00 น.
- โรงแรมเปิดได้ปกติ งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง
- ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ปิดในช่วงเวลา 20.00-4.00 น.
- โรงเรียน/สถานการศึกษา/สถาบันการศึกษา เรียนผ่านระบบทางไกล งดใช้อาคารในการเรียนแบบ 0N-SITE
- กิจการต่อไปนี้เปิดได้ตามความจำเป็น ต้องดำเนินตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลีนิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั้มน้ำมัน ปั้มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง