นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทั้งนี้ กอนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น
โดยสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศไทยในวันนี้ (19 ก.ค. 64) พบว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำทั้งประเทศ มีจำนวน 36,073 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 44% ของความจุรวม ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 31,627 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44% ของความจุรวม ในส่วนของระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักในภาคกลางและภาคตะวันออก มีน้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก บางปะกง เป็นต้น ส่วนภาคใต้ มีน้ำน้อยถึงปกติ แนวโน้มลดลง อาทิ แม่น้ำตาปีและแม่น้ำปัตตานี ขณะที่ภาคเหนือ ได้แก่ แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง มีน้ำน้อยถึงปกติ แนวโน้มทรงตัว
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพบว่ามีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังน้ำมาก เนื่องจากเกินเกณฑ์ระดับควบคุมสูงสุด 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯน้ำพุง จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำเก็บกัก 56 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34% ของความจุ ยังมีพื้นที่สามารถรับน้ำได้อีก 109 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 116 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 71% ของความจุ มีพื้นที่สามารถรับน้ำได้อีก 48 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้เน้นย้ำกรมชลประทานติดตามสถานการณ์ฝน เพื่อปรับแผนบริหารจัดการน้ำไม่ให้มีการเก็บกักน้ำมากเกิน หากมีฝนตกในพื้นที่มากขึ้นจนส่งผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำได้ ขณะเดียวกัน ช่วงวันที่ 19-24 ก.ค. 64 พบว่า มรสุมรตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้ฝังตะวันตกมีฝนตกหนัก กอนช. จึงได้กำชับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำบางลางให้อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำในเขื่อนสูงสุด เพื่อให้มีพื้นว่างรองรับน้ำหลากกรณีฝนตกหนัก โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำคิดเป็น 57% ของความจุ มีพื้นที่สามารถรับน้ำหลากได้ 756 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กอนช. ได้ติดตามฝนคาดการณ์ระบบ ONEMAP พบว่าในเดือน ก.ย.-ต.ค.ปีนี้ จะมีฝนตกชุกและปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติ โดยปริมาณน้ำในอ่างฯ ส่วนใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. ต่อเนื่องถึงเดือน พ.ย. โดยอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำมีแนวโน้มมากกว่า 100% ของความจุเก็บกักและมีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ ได้แก่ อ่างฯจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ อ่างฯอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างฯลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา อ่างฯหนองปลาไหล และอ่างฯประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเร่งเก็บกักน้ำสำหรับเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย รวมถึง กอนช. ยังคงเฝ้าระวังปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงฤดูฝน โดยขณะนี้พบว่ายังมีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.อ่างฯแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 48 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 18% ของความจุ 2.อ่างฯภูมิพล มีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,125 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 31% ของความจุ 3.อ่างฯแม่จาง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 22 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 21% ของความจุ 4.อ่างฯสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 3,154 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 33% ของความจุ
5.บึงบอระเพ็ด มีปริมาณน้ำเก็บกัก 12 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 5% ของความจุ 6.อ่างฯทับเสลา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 25 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 16% ของความจุ 7.อ่างฯศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 11,051 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 62% ของความจุ 8.อ่างฯวชิราลงกรณ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 3,573 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 40% ของความจุ ซึ่งจะมีการติดตามเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ