น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางรางของประเทศ
โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง หลักเกณฑ์การเสนอโครงการขนส่งทางรางและการดำเนินโครงการขนส่งทางราง เขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัย การกำกับดูแลการประกอบกิจการการขนส่งทางราง หลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ หลักเกณฑ์ของผู้ตรวจการขนส่งทางรางและผู้ประจำหน้าที่ การจดทะเบียนการขนส่งทางราง การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางราง และการบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่นๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์
ในร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีรายละเอียดที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบแผนการพัฒนาการขนส่งทางราง และโครงการของหน่วยงานรัฐ, เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการขนส่งทางราง การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี การเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ สถานีขนส่งทางบก ศูนย์กระจายสินค้า ที่พักสินค้า ท่าเรือบก นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากราง และค่าธรรมเนียมอื่น และการกำหนดประเภทของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร
นอกจากนี้ ยังกำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้โดยสาร ประกอบด้วย ผู้ได้รับใบอนุญาตจะเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากราง และทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่นเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดไม่ได้, ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้โดยสาร เมื่อการเดินรถขนส่งทางรางมีเหตุล่าช้าหรือถูกยกเลิก
ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ และผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้มีความเหมาะสมแก่การใช้บริการขนส่งทางราง และในกรณีที่ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ หรือบุคคลอื่น ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้มีสิทธิร้องเรียนต่ออธิบดี และต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งโดยเร็วไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับเรื่องร้องเรียน