น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ปรับปรุงหลักการและแนวทางการพิจารณาการออกสลากการกุศล เนื่องจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และจ่ายเงินสนับสนุนโครงการสลากการกุศลให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 และวันที่ 9 เม.ย. 2562 รวม 16 โครงการ รวมเป็นเงิน 7,988 ล้านบาทเสร็จสิ้นแล้ว จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงแนวทางเพื่อให้การพิจารณาออกสลากการกุศลครั้งต่อๆ ไปเป็นไปอย่างเหมาะสม มีความรอบคอบ ชัดเจน และเกิดประโยชน์ และสอดคล้องกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
สำหรับประเด็นที่มีการปรับปรุง ประกอบด้วย 1) ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศล โดยเปลี่ยนประธานกรรมการจาก รมช.คลังที่ รมว.คลังมอบหมาย เป็น รมว.คลัง และเพิ่มเลขาธิการ ครม.เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ ภายหลังการการปรับปรุงแล้ว คณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศล จะประกอบด้วย รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ ครม. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตื ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางการพิจารณารายละเอียดของหลักการและแนวทางพิจารณาการออกสลากการกุศลภายใต้กรอบหลักเกณฑ์ ที่ครม. พิจารณากลั่นกรองโครงการสลากการกุศลของหน่วยงานต่างๆ
2) กำหนดประเภทหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้ในปัจจบัน ทำให้หน่วยที่จะขอรับการสนับสนุนได้ประกอบด้วย หน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 (หน่วยงานของรัฐที่ขอรับหรือได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายและให้หมายความรวมถึงสภากาชาดไทยด้วย), มูลนิธิที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
3) ให้ความสำคัญกับโครงการที่มีผลลัพธ์และสัมฤทธิ์ต่อประชาชนและสังคม เช่น เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการสาธารณสุข การป้องกันและบรรเทาโรคติดต่ออันตราย หรือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โครงการที่ก่อประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้าง โครงการที่ไม่ได้รับหรือได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐแต่ไม่เพียงพอ และไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่เสนอขอรับงบประมาณของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม
4) สามารถยกเลิกโครงการได้ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้