สปสช. เผยชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit มีประสิทธิภาพ คลาดเคลื่อนเพียง 3%

ข่าวทั่วไป Thursday July 22, 2021 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช. ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทดลองนำร่องใช้ชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit (ATK) ในพื้นที่ชุมชนกทม. พบว่าการใช้ชุดตรวจ ATK สามารถประหยัดเวลาในการตรวจ และสามารถทราบผลตรวจได้อย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดได้ทำการตรวจให้แก่ประชาชนแล้วกว่า 50,000 ราย พบว่าติดเชื้อโควิด หรือมีผลตรวจเป็นบวกประมาณ 10% และจากการทดสอบผลตรวจซ้ำครั้งที่ 2 ด้วยการตรวจแบบมาตรฐาน RT-PCR พบว่าผลตรวจมีความคลาดเคลื่อนเพียง 3% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุดตรวจ ATK มีประสิทธิภาพในการใช้งาน

โดยสัปดาห์นี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติขยายเพิ่มชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางส่วนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยตนเอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดหา ส่วนทางทีมวิชาการโดยกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการวางแผนในการกระจายชุดตรวจ ATK อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำร่องใช้ชุดตรวจ ATK ในคลินิกชุมชนอบอุ่นกว่า 200 แห่ง และระบบบริการสาธารณสุข อีก 69 แห่งในกทม. เรียบร้อยแล้ว ส่วนสถานพยาบาลอื่นๆ นอกเหนือจากกทม. อยู่ระหว่างการการชี้แจง และทำความเข้าใจในการใช้ชุดตรวจ ATK ต่อไป

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง CCR TEAM กว่า 200 ทีมได้ลงพื้นที่ในกทม. ตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK และได้ทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนต่างๆ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจแล้วผลเป็นบวกจะต้องทำ Home Isolation (HI) ซึ่งทางทีม CCR จะทำการแจกยาฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ ตามการวินิจฉัยของแพทย์ และอุปกรณ์ในการดูแลรักษาต่างๆ แก่ผู้ป่วยทุกคน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกคนไม่มีความจำเป็นต้องตรวจโควิด-19 ยกเว้นกรณีผู้ที่มีความเสี่ยงจากการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ที่มีอาการเข้าข่ายโรคโควิด-19 เท่านั้น

สำหรับประเด็นที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจากประชาชน เพื่อที่จะได้เตียงหรือได้รับการรักษานั้น ขณะนี้ สธ. รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และอยู่ระหว่างการดำเนินการกับโรงพยาบาลนั้นๆ โดยเร็วที่สุด เนื่องจากในสถานการณ์การแพร่ระบาดปัจจุบัน โรงพยาบาลมีหน้าที่สำคัญในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลักสำคัญในพื้นที่กทม. เนื่องจากมีสัดส่วนอยู่กว่า 70% ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐมีเพียง 30% เท่านั้น

โดยสถานการณ์เตียงขณะนี้ ในกทม. มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 95% ซึ่งหมายความว่าเหลือเตียงว่างเพียง 5% เท่านั้น ทั้งนี้ทาง สธ.ไม่นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างการปรับเตียงสีเขียวเป็นเตียงสีเหลือง และนำการใช้ระบบ HI มาใช้มากขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักได้อย่างเพียงพอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ