นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ทำให้มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางกลับภูมิลำเนาผ่านระบบ ศบค.ในช่วงวันที่ 19-22 ก.ค.64 รวม 504,241 คน ซึ่งในจำนวนนี้อาจมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับไปด้วย ขณะที่การระบาดระลอกใหม่มีรายงานผู้ติดเชื้อจาก กทม.และปริมณฑลเดินทางกลับต่างจังหวัดแล้ว 31,175 คน ส่วนใหญ่เป็นอาการสีเขียว ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว,กลาโหม ต้องการให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จะเดินทางกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนามีความปลอดภัย ไม่แพร่กระจายเชื้อระหว่างการเดินทาง จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) , กระทรวงคมนาคม และกระทรวงกลาโหม จัดระบบการดูแลรับส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย
โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนาให้ติดต่อสายด่วน สปสช.หรือผ่านระบบออนไลน์เพื่อรวบรวมข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุขประสานโรงพยาบาลจังหวัดปลายทางเตรียมความพร้อมรองรับ รวมทั้งประสานกับ สพฉ.เตรียมยานพาหนะประเภทต่างๆ นำส่งภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย คาดว่าใช้เวลาประสานไม่เกิน 3 วันสามารถเดินทางได้ โดยดูแลทั้งเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และสุขภาพตลอดการเดินทาง ทั้งนี้ระหว่างการรอผู้ติดเชื้อต้องดูแลป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นและหากมีอาการรุนแรงขึ้นให้ประสานสายด่วน 1330 และ 1668 ส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อและต้องการกลับภูมิลำเนา เมื่อเดินทางไปแล้วขอให้รายงานตัวกับทางจังหวัด
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการกลับภูมิลำเนาสามารถติดต่อได้ทางสายด่วน สปสช. 1330 กด 15 ซึ่งกำลังเพิ่มเป็น 2,100 คู่สาย หรือติดต่อทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ หรือการสแกนคิวอาร์โคด ซึ่งแสดงผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดย สปสช.จะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขทุกวันในช่วงเวลา 08.00 น.
ขณะที่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต้องอยู่ในเกณฑ์อาการสีเขียว หากอาการรุนแรงจะส่งรถฉุกเฉินรับไปส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมแทน สำหรับพาหนะในการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม จัดเตรียมรถไฟ รถ บขส. และรถตู้ไว้บริการ ประสานกรมการขนส่งทหารบก กรมแพทย์ทหารบก จัดรถขนาดใหญ่หรือเครื่องบิน โดยผู้ที่จะเดินทางกลับโดยเครื่องบินต้องผ่านการประเมินสุขภาพว่าพร้อมสำหรับการเดินทาง (Fit to Fly) นอกจากนี้ได้จัดบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตลอดการเดินทาง โดยรถบัส รถทัวร์ จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินตามไปด้วย ส่วนรถไฟและเครื่องบินจะมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามเพื่อดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน
"สพฉ.จะจัดยานพาหนะไว้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการไปรับส่งผู้ป่วยจากบ้านมายังสถานีรถไฟ บขส. หรือเครื่องบิน เนื่องจาก กทม.มีการใช้รถรับส่งผู้ป่วยจำนวนมาก ช่วงที่สองคือยานพาหนะที่รับส่งระยะยาว คือ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น และช่วงที่สาม คือ การรับส่งที่จังหวัดปลายทาง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลจะจัดรถมารับ ทั้งนี้ อยากให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเดินทางกลับใช้ระบบบริการที่รัฐจัดให้ เนื่องจากมีความปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว