สทนช.เผยผลศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกช่วยเพิ่มปริมาณน้ำอุปโภคบริโภค

ข่าวทั่วไป Saturday July 24, 2021 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แถลงผลการศึกษาโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Strategic Environmental Assessment : SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ว่า สทนช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาโครงการฯ มาตั้งแต่กลางปี 63 และจะดำเนินการแล้วเสร็จปลายเดือน ก.ค.64 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาของลุ่มน้ำที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือมีผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561-2580

โดยแนวทางการศึกษา ประกอบด้วย การจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำอุปโภค-บริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วม และบรรเทาอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และการบริหารจัดการโดยมีผลการศึกษาในประเด็นสำคัญที่แล้วเสร็จ อาทิ แผนงาน/โครงการที่เสนอทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน รวม 2,894 โครงการ ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคและเสริมสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1,218.33 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และสามารถลดพื้นที่อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกได้อีก 47,631 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดของจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร จังหวัด สุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ ผลการศึกษาในกระบวนการ SEA ซึ่งใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) สามารถสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล รวมถึงภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนงานเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การศึกษาพื้นที่ต้นแบบด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งมีต้นแบบความสำเร็จ คือ ที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านวังลำ ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ถือเป็นแหล่งต้นน้ำและชุมชนต้นแบบที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาพื้นที่บ้านวังลำมักประสบปัญหาน้ำมีไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก ทำให้คนในชุมชน ท้องถิ่นและภาครัฐได้หาแนวทางร่วมกันบริหารจัดการน้ำผ่านกลไกของการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่คือ อ่างเก็บน้ำบ้านน้ำราบและโครงการอ่างเก็บน้ำสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ในส่วนของจังหวัดกระบี่ พื้นที่บ้านไร่ตะวันหวาน ตำบลดินแดง อำเภอลำทับ นับเป็นอีกหนึ่งชุมชนต้นแบบที่มีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันกับท้องถิ่นและภาคเอกชน บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและมีการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ โดยได้ก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านไร่ตะวันหวาน และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดนำร่อง

ขณะที่ปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคในกิจกรรมต่างๆ ในจังหวัดที่ผ่านมายังคงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมีค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่สูงมาก แต่เมื่อจังหวัดภูเก็ตต้องเป็นต้นแบบในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวแล้ว การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในการรองรับกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาและอุปสรรคกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว เช่น 1) การก่อสร้างสระน้ำแก้มลิงบ้านโคกโตหนด พร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงแล้งสำหรับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง 2) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาจากจังหวัดพังงาไปยังจังหวัดภูเก็ต 3) การก่อสร้างระบบผลิตน้ำรีไซเคิล ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และ 4) การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่เกาะต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีนำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด

"การศึกษา SEA เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการจัดทำแผนหลักด้านน้ำที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ริเริ่มจัดทำเป็นมาตรฐานให้กับการพัฒนาด้านอื่นๆ การดำเนินการศึกษาของ สทนช.ได้เสริมการวิเคราะห์ความต้องการของพื้นที่ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และลำดับความสำคัญผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ผลที่ได้รับคือ แผนหลักการบริหารลุ่มน้ำซึ่งจะต้องเสนอเข้าสู่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเพื่อการปรับปรุงเป็นแผนแม่บทน้ำของประเทศในปี 2565 ต่อไป" นายสมเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ