นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวประเด็น การบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ตั้งคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนโควิด-19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งมีผู้แทนและผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วน ร่วมกันพิจารณาจัดสรร และกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ให้กับกลุ่มเป้าหมายตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ศบค.) โดยวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก จำนวน 1.54 ล้านโดสจะเข้ามาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เริ่มฉีดต้นเดือนสิงหาคม 2564 ในกลุ่มบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข/บุคลากรด่านหน้า ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส ที่เหลือจัดสรรไปยังกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ และเพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่
กรณีข่าวการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/ด่านหน้าเหลือ 2 แสนโดสนั้น ขอย้ำไม่เป็นความจริง การจัดสรรวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญของบุคลากรด้านการแพทย์และด่านหน้า เพื่อธำรงรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 บุคลากรด่านหน้าทุกคนต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งขณะนี้บุคลากรบางส่วนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และฉีดเข็ม 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ผลการศึกษาพบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันสูงมาก มากกว่าฉีดเข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า, แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, ไฟเซอร์ 2 เข็ม, ซิโนแวค 2 เข็ม และสูงกว่าภูมิคุ้มกันหลังการติดเชื้อ รวมทั้งไม่มีการบังคับให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้า การฉีดเป็นไปตามความสมัครใจ ขณะนี้ได้ให้ทุกโรงพยาบาลสำรวจข้อมูลบุคลากรด่านหน้าและจะฉีดให้ตามที่ได้แจ้งไว้ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์อีกจำนวน 20 ล้านโดสจะเข้ามาในประเทศไทยและเริ่มฉีดได้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2564 การจัดสรรจะอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะทำงานฯ วัคซีนไฟเซอร์ และจะแจ้งให้ทราบต่อไป "ขณะนี้มีการแอบอ้าง หลอกลวงเรื่องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์และเรียกเก็บเงิน ขอย้ำว่าวัคซีนไฟเซอร์ทั้ง 21.54 ล้านโดส เป็นการฉีดฟรี ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างถึงที่สุด ขอให้อย่าหลงเชื่อ และติดตามข้อมูลที่ถูกต้องจากกระทรวงสาธารณสุข" นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าว
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไปได้ คือความร่วมมือของประชาชนทุกคนและทุกภาคส่วน เข้มข้นมาตรการป้องกันโรค ขอเรียนว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคนทำงานอย่างหนักมากเพื่อดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด ทั้งทีมเชิงรุกสู่ชุมชน การบริหารจัดการเตียงรับผู้ป่วยอาการวิกฤตรุนแรง รวมทั้งปรับมาตรการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและชุมชน