ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,376 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,064 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 3,257 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,041 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 14 ราย โดยในจำนวนนี้ มาจากรัสเซีย 1 ราย, สวิสเซอร์แลนด์ 1 ราย, มาเลเซีย 10 ราย เป็นการลักลอบเดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมายทางช่องทางธรรมชาติ และอีก 2 รายมาจากกัมพูชา ลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติเช่นกัน
- เสียชีวิตเพิ่ม 87 ราย แยกเป็นเพศชาย 52 ราย เพศหญิง 35 ราย อายุระหว่าง 28-96 ปี (อายุเฉลี่ย 64 ปี) ส่วนใหญ่เป็นผู้มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน เป็นต้น
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 512,678 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 341,475 ราย เพิ่มขึ้น 6,782 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 4,146 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า กรุงเทพฯ ยังเป็นจังหวัดที่พบการรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ที่ 2,573 ราย และจำนวนดังกล่าวยังไม่นับรวมผลตรวจจาก Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งคาดว่าจะมีอีกกว่าพันราย รองลงมา คือ สมุทรสาคร 1,074 ราย สมุทรปราการ 970 ราย ชลบุรี 867 ราย นนทบุรี 719 ราย ระยอง 411 ราย ฉะเชิงเทรา 320 ราย นครปฐม 311 ราย ปทุมธานี 301 ราย และพระนครศรีอยุธยา 290 ราย
"ถ้าเทียบตัวเลขติดเชื้อรวมทั้งประเทศ จะเห็นว่าตอนนี้อัตราส่วนของกทม.และปริมณฑล เป็น 41% ส่วนต่างจังหวัด เมื่อก่อนตัวเลขเคยเล็ก แต่ตอนนี้แซงเกิน กทม.ไปแล้ว มาอยู่ที่ 59%" พญ.อภิสมัย กล่าว
อย่างไรก็ดี การรายงานผู้เสียชีวิตค่อนข้างกระจายอยู่ในทั่วประเทศไม่ได้อยู่เฉพาะกทม.-ปริมณฑล หรือในพื้นที่สีแดงเข้มเท่านั้น ที่สำคัญการเสียชีวิตยังอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว มีระยะเวลาการนอน รพ.นานขึ้น และมีรายงานผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในต่างจังหวัดเริ่มมีการรายงานผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจาก กทม.และปริมณฑลมากขึ้น จึงทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น เช่น น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท ขอนแก่น นครราชสีมา มุกดาหาร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี ดังนั้นจากนี้จึงมีความจำเป็นต้องให้ในต่างจังหวัดเริ่มทำระบบการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) เช่นเดียวกันกับที่กทม.และปริมณฑลดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เพื่อช่วยแบ่งเบาระบบสาธารณสุขที่บางแห่งอยู่ในภาวะที่ตึงตัวแล้ว
"การจัดการในพื้นที่หลายๆ จังหวัดเหล่านี้ที่พบผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นคนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม ต้องเน้นย้ำให้จังหวัดเหล่านี้ต้องเฝ้าระวัง เพราะแต่ละจังหวัดศักยภาพของระบบสาธารณสุขเริ่มตึง อัตราครองเตียงบางจังหวัดขึ้นไปถึง 70% มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น และบางจังหวัดมีนโยบายรับผู้ป่วยจากกทม.ไปรักษาตัวที่บ้าน จึงต้องย้ำ สสจ. ผู้ว่าฯ ให้ระบบสาธารณสุขคัดกรองประชาชนที่เดินทางเข้าพื้นที่อย่างเคร่งครัด จัดระบบการรักษาในส่วนของการเปิดแยกกักในชุมชน แยกกักที่บ้านไว้รองรับ ต้องทำเหมือนในกทม." ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศบค.ยังได้หารือถึงกรณีที่ประชาชนไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจ ATK และพบว่าผลตรวจเบื้องต้นออกมาว่าติดเชื้อ แต่มีข้อจำกัดที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาในทันที เนื่องจากต้องมีการยืนยันผลตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยการตรวจวิธี RT-PCR ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลารอผลอย่างน้อย 1-2 วัน หรือบางคนอาจไม่สามารถหาสถานที่ตรวจแบบ RT-PCR ได้นั้น ทางศบค.ได้รับการชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุขว่า การที่จำเป็นต้องให้ตรวจด้วยวิธี RT-PCR ยืนยันซ้ำอีกครั้งแม้จะผ่านการตรวจด้วย ATK มาแล้ว เพราะมีโอกาสที่การตรวจ ATK อาจจะเป็นผลบวกลวงได้ (ไม่ได้ติดเชื้อจริง) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้วยการตรวจวิธี RT-PCR ซ้ำอีกครั้งก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการรักษาไม่ว่าจะเป็น HI หรือ CI และคงไม่สามารถยกเลิกวิธีปฏิบัตินี้ได้ อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งประชุมกันเพื่อแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดในจุดนี้
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติให้ กทม.จัดหาชุดตรวจ ATK เพิ่มอีก 8.5 ล้านชุด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากที่สุด
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ได้รับความร่วมมือจากสถานพยาบาลเอกชน เช่น รพ.บางปะกอก 1, รพ.มงกุฎวัฒนะ, รพ.ปิยะเวท ตลอดจน รพ.สนามแห่งอื่นๆ รวมทั้ง Hospitel ในการขยายเตียงเพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนส.ค.และก.ย.นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ รพ.กรุงเทพ และ รพ.ธนบุรี ก็ได้ดำเนินการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยให้มากขึ้นแล้วเช่นกัน เพื่อจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และลดการเสียชีวิตที่บ้านลงได้
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 194,825,130 ราย เสียชีวิต 4,175,080 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 35,199,465 ราย อันดับ 2 อินเดีย 31,409,639 ราย อันดับ 3 บราซิล 19,688,663 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,126,541 ราย และอันดับ 5 ฝรั่งเศส 5,993,937 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 47