รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประชุมร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงบ่ายวันนี้
ที่ประชุมมีมติปรับแนวทางการบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อ โดยตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค.นี้ จะไม่มีการเปิดให้วอล์คอินเข้ามาใช้บริการ แต่จะต้องลงทะเบียนผ่านแอพพิเคชั่น "วัคซีนบางซื่อ" เพื่อให้สามารถฉีดได้ทันทีที่ไปถึง โดยจะให้บริการวัคซีน 20,000 โดสต่อวัน
พร้อมทั้งมีการเสริมมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยประสานให้ทางกระทรวงกลาโหมเข้ามาช่วยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป รวมถึงมีการปรับรูปแบบไม่ต้องมีการวัดความดันก่อนฉีดวัคซีน นอกจากกรณีมีความจำเป็น เพื่อลดปัญหาความแออัดในสถานีกลางบางซื่อ พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวขอบคุณและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีความพยายามแก้ปัญหาความแออัด ความหนาแน่น โดยมาตรการต่าง ๆ อาทิ จัดเก้าอี้เพื่อกำหนดให้มีระยะห่าง จัดให้มีการเหลื่อมเวลาในการเข้ารับบริการ โดยผู้สูงอายุจะเข้ารับบริการช่วงเช้า และในช่วงบ่ายเป็นการให้บริการกลุ่มอื่น ๆ ลดขั้นตอนรับบริการ เช่น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีและมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ต้องวัดความดันหรือผู้ที่ลงทะเบียน จองคิวผ่านระบบสามารถตรงเข้าไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เลย
พร้อมทั้งชื่นชมศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ สามารถให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับประชาชนไปแล้ว 1 ล้านโดส และมีศักยภาพสามารถให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ถึงวันละ 25,000-30,000 โดส/วัน และตั้งแต่เดือนหน้าจะมีการขยายกลุ่มเป้าหมายให้บริการ คือ กลุ่มผู้มีอายุ 18 ขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม สตรีมีครรภ์อายุเกิน 12 สัปดาห์ ผ่านการลงทะเบียน และนายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า รัฐบาลเน้นนโยบายการบริหารวัคซีนโดยให้ความสำคัญกับการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งในเดือนหน้าจะมีการกระจายวัคซีนโควิด-19 ลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
จากนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลบุษราคัม ที่เมืองทองธานีไปยังอาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม หลังจากหมดสัญญากับทางเมืองทองธานีในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะรองรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองขึ้นไป และมีการเตรียมเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยสีแดง 3,000 เตียง
ทางด้านผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม รายงานว่า โรงพยาบาลบุษราคัมเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.64 สถานการณ์ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดผู้ป่วยสะสมถึงวันที่ 17 ก.ค.64 จำนวน 9,435 ราย จนถึงวันที่ 26 ก.ค.64 ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 12,268 ราย ขณะนี้มียอดผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 3,592 ราย กลับบ้านไปแล้ว 8,000 กว่าราย วันนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนจำนวน 770 ราย จากสถานการณ์การระบาดต่อเนื่องและรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีจำนวนมากขึ้น โรงพยาบาลบุษราคัมได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุขให้พัฒนาพื้นที่รองรับผู้ป่วยวิกฤติสีแดงเข้มจำนวน 17 เตียงเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว
รายงานข่าว เปิดเผยอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับที่ประชุมว่า แนวปฏิบัติใหม่ๆ ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วจากกระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับนโยบายไปแล้ว ซึ่งตนเองให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคน และอยากฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งหากติดขัดตรงไหนก็ให้บอกมา พร้อมแก้ปัญหาและดูแลให้
นายกรัฐมนตรี ได้มอบกำลังใจและขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทุกหน่วยงานที่ได้ให้ความร่วมมือ ร่วมใจทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งทราบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้การแพร่ระบาดมีความรุนแรง จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น เป็นผลให้โรงพยาบาลมีปริมาณงานที่สูงขึ้น รวมทั้งมีความซับซ้อนของผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาให้มากที่สุด จึงได้ให้แนวทางพิจารณาว่า หากโรงพยาบาลใดมีพื้นที่ว่างก็อาจให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในบริเวณโรงพยาบาลด้วย
นอกจากนั้น ยังยืนยันว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพียงพอ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และให้ความมั่นใจรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานทุกหน่วยงาน ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือ ร่วมใจทำงานเพื่อประชาชน รัฐบาลจะดูแลบุคลากรทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่เช่นกัน