นายกฯ ยินดี "ป่าแกงกระจาน" เป็นมรดกโลกหนุนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ข่าวทั่วไป Tuesday July 27, 2021 19:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยินดีกับผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) สมัยสามัญครั้งที่ 44 ขององค์กรยูเนสโก (UNESCO) ขึ้นทะเบียน "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ให้เป็นมรดกโลก

พร้อมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสร้างความสมดุล อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช ชนิดพันธุ์สัตว์ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล ให้คงคุณค่าของพื้นที่เพื่อส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง รวมทั้ง พร้อมส่งเสริมการสร้างรายได้ ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชนในอนาคต

นายอนุชา ระบุว่า "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" มีคุณลักษณะหรือคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ที่สอดคล้องกับเกณฑ์สำหรับการพิจารณา ตามเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) ในข้อที่ 10 ว่าด้วย "เป็นถิ่นที่อยู่อาศัย ที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมถึง ถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก"

โดย "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ของไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรีและแม่น้ำภาชี ตลอดจน เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่า 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) หรือครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลฯ กล่าวว่า การที่ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี เป็นความภูมิใจ และทำให้ชาวไทยหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีให้ดี โดยพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548 ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ