นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อมตะได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และจังหวัดชลบุรีในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรภาคอุตสาหกรรมผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ อมตะ คาสเซิล นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยมีการทยอยฉีดวัคซีนให้พนักงานในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนภาคการผลิตที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
"การแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดเวลาที่ผ่านมาอมตะได้มีการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบนิคมฯทั้งการแจกของอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์และน้ำดื่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนภาครัฐในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยการอำนวยความสะดวกในการจัดสถานที่จัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยล่าสุดการฉีดวัคซีนให้แรงงานดังกล่าวมีความคืบหน้าต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายทั้งหมดยังจำเป็นต้องประสานกับภาครัฐในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอประกอบด้วย" นายวิบูลย์กล่าว
สำหรับพื้นที่จังหวัดระยองล่าสุดพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสถานพยาบาลเริ่มมีไม่เพียงพอรับกับผู้ป่วยใหม่ดังนั้น กนอ. และอมตะซิตี้ ระยอง ได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือบมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมให้เช่า (Ready-Built Factory) และอาคารคลังสินค้าให้เช่า (Ready-Built Warehouse) ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมฯ เตรียมส่งมอบอาคารโรงงานเพื่อจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ให้แก่จังหวัดระยองได้บริหารจัดการสำหรับใช้รองรับผู้ป่วยต่อไปโดยคาดว่าจะสามารถเปิดรับผู้ป่วยได้เร็วๆ นี้
ด้านนางบุปผา กวินวศิน ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี กล่าวว่า จากการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นผลดีแก่ภาคอุตสาหกรรมที่จะยังคงมีศักยภาพในการผลิตเพื่อขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนของไทยได้อย่างต่อเนื่องแล้วยังขยายผลส่งถึงชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมด้วยเพราะประชากรภาคอุตสาหกรรมมีการพักอาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ หากประชากรเหล่านี้ได้ฉีดวัคซีนอย่างต่ำ 90% ก็จะสามารถสร้างภูมคุ้มกันหมู่ในชุมชน 70% ได้ทันที
"นิคมอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่มีประชากรอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากและทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อจะสามารถแพร่กระจ่ายได้อย่างรวดเร็ว และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เราจึงมองการดูแลทั้งแรงงานในนิคมและชุมชนเพื่อถือว่าเป็นบ้าน ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ กนอ. หวังให้การดูแลแรงงานในนิคมจะส่งผลให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมฯเกิดความปลอดภัยร่วมกับสถานประกอบการ สามารถจะดำเนินกิจการได้อย่างปลอดภัยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง" นางบุปผากล่าว