นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ แม้จะมีการวางระบบให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อยรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ภายใต้การติดตามดูแลของหน่วยบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ซึ่งวางแผนให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเข้ามาดูแลผู้ป่วย Home Isolation ในพื้นที่ของคลินิกนั้นๆ แต่เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีเป็นจำนวนมากเกินศักยภาพที่คลินิกชุมชนอบอุ่นจะรับดูแลได้หมด ทำให้ยังคงมีผู้ป่วยตกค้างไม่ได้จับคู่กับหน่วยบริการอีกเป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมา สปสช.พยายามจัดการโดยดึงโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัด อาทิ โรงพยาบาล สิชล จ.นครศรีธรรมราช เข้ามารับดูแลผู้ป่วยที่ยังตกค้าง จนสามารถลดจำนวนลงไปได้มาก แต่ก็ยังมีผู้ป่วยรายใหม่ๆ ที่เข้ามาในระบบของสายด่วน 1330 อีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการที่จะเข้ามารับดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้น สปสช.จึงขอเชิญชวนคลินิกเอกชนที่ไม่ได้เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือไม่ได้คู่สัญญากับ สปสช. เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวในรูปแบบ Home Isolation เข้าร่วมการประชุมชี้แจงระบบบริการและการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขฯ ในการให้บริการตรวจโควิดแบบชุดตรวจแอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) หรือ ATK และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) หรือ HI สำหรับสถานพยาบาลที่ไม่มีเตียงค้างคืนพื้นที่ กทม. ในวันที่ 3 ส.ค. 2564 ระหว่างเวลา 9.00-11.00 น. ผ่านระบบ ZOOM Meeting
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าว จะมีการชี้แจงในประเด็นขอบเขตการจัดบริการ หลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าตรวจคัดกรองด้วยวิธี Antigen Test Kit และการบริการใน Home Isolation ตลอดจนวิธีการเบิกจ่ายจาก สปสช. การพิสูจน์ตัวตนเพื่อเข้ารับบริการ กรณีคัดกรองโควิด-19 ซึ่งหากหน่วยบริการมีความสนใจช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อ และหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการของ สปสช. เป็นอัตราที่ยอมรับได้ หน่วยบริการหรือคลินิกเอกชนก็สามารถสมัครเข้าร่วมให้บริการตรวจคัดกรองและดูแลผู้ป่วยในรูปแบบ Home Isolation กับ สปสช.ได้ทันที
"คลินิกเอกชนต่างๆ ใน กทม.มีกว่า 3,000 แห่ง แต่คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ทำงานกับ สปสช.มีเพียง 200 กว่าแห่ง หากคลินิกเอกชนที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ สปสช.มาเข้าร่วมดูแลด้วย ก็จะทำให้สามารถรองรับการทำ Home Isolation ให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวได้อีกเป็นจำนวนมาก" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า การเข้ามาร่วมให้บริการของคลินิกเอกชนเหล่านี้จะไม่มีปัญหาทางกฎหมาย เพราะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ออกประกาศเรื่อง "แนวทางการดูแลรักษา ป้องกัน ควบคุม และส่งต่อผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ของสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนและสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน พ.ศ. 2564" โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.2564 ซึ่งจะมีผลปลดล็อกให้คลินิกเอกชนสามารถให้บริการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาแบบ Home Isolation ได้ โดยไม่ต้องกังวลข้อจำกัดเรื่องไม่มีเตียงรองรับหรือจะต้องรับผู้ป่วยเข้ามานอนเตียงของหน่วยบริการนั้นๆ