(เพิ่มเติม) นายกฯ ติดตามสถานการณ์โควิดพท.สีแดงเข้ม สั่งเร่งแก้ปัญหาติดขัดหวังดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์

ข่าวทั่วไป Wednesday July 28, 2021 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) นายกฯ ติดตามสถานการณ์โควิดพท.สีแดงเข้ม สั่งเร่งแก้ปัญหาติดขัดหวังดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐมสมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี สงขลา ยะลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Zoom จากบ้านพักภายในกรมทราบราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) เพื่อหารือถึงแนวทางการรับมือกับการแพร่ระบาด การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การตั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงสถานการณ์และความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยเน้นย้ำให้แต่ละจังหวัดเสนอปัญหาข้อติดขัด เพื่อรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ให้แต่ละจังหวัดเพิ่มเตียงให้พอ เฝ้าระวังการระบาดข้ามจังหวัดและให้มีส่วนภาคต่างๆเข้าร่วมสนับสนุน ขณะเดียวกันจะใช้ระบบ Bubble and Seal ในพื้นที่โรงงานและแคมป์แรงงาน เช่น ฉะเชิงเทรา ซึ่งคลัสเตอร์โรงงานเป็นแหล่งระบาดหนัก และมีคนงานเดินทางข้ามจังหวัดมา เช่น สมุทรปราการ จึงต้องใช้มาตรการฉีดวัคซีน จัดหาที่พัก จนไปถึงระดับสูงสุดคือปิด 14 วัน โดยให้แต่ละจังหวัดรายงานสถานการณ์ให้ทราบ

สำหรับการตรวจ Antigent Test Kit จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มีการตรวจอย่างถูกต้อง ซึ่งหากพบมีผลเป็นบวก ก็ให้เข้าสู่ระบบการรักษา และตรวจแบบ PT-PCR อีกรอบ ทั้งนี้พบว่า แนวโน้มผู้ป่วยจะอยู่ในระดับสีเหลืองไปสู่สีแดงเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องจัดเตรียมเตรียมวัคซีนและ Antigent Test Kit ให้เพียงพอ ส่วนเรื่องการพิจารณาเพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงให้ทางกระทรวงมหาดไทยและสาธารณสุข ไปดำเนินการรวบรวม และเสนอมาอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความกังวลต่อสถานที่ตรวจที่เป็นของภาคเอกชน เนื่องจากเมื่อประชาชนไปตรวจแล้ว ไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อได้ จึงฝากให้ไปแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีเสนอว่า กรณีที่ผู้ป่วยรักษาหายแล้ว ต้องมีการทำข้อมูล ถึงจำนวนเตียงผู้ป่วยที่ว่างลง เพื่อสามารถรับผู้ป่วยเข้ามาเพิ่มได้ และฝากให้ทุกจังหวัด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกัน

ขณะที่การปิดตลาดก็มีความเป็นห่วงว่าหากปิดแล้ว แล้วประชาชนจะได้รับผลกระทบ จึงต้องหามาตรการออกมารองรับ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องสามารถให้ขายได้ในทุกจังหวัดและไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดว่า อาจจะยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน แต่จะพยายามควบคุมสถานการณ์ให้ดีที่สุด ทางนี้จากหลักฐานทางการแพทย์ หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ แต่ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดจากทั่วโลกด้วย

ขณะที่นายอนุทิน ยืนยันว่า จะมีการจัดหาวัคซีนให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือนและในเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป จะฉีดวัคซีนเฉลี่ยให้ได้วันละ 1 ล้านโดสต่อเดือน และกระจายไปทุกพื้นที่ตามเป้าหมายของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดได้รายงานปัญหาหน้างานของแต่ละจังหวัดในขณะนี้ คือ ความล่าช้าในการคัดกรอง คัดแยกผู้ป่วย การนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา การขาดแคลนเตียงในระดับผู้ป่วยที่มีการอาการหนักและอาการรุนแรง รวมทั้งการบริหารจัดการวัคซีน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น

โดยนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขทำการปลดล็อกการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจเร็ว Antigen Test Kit เมื่อพบผลเป็นบวก ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาทั้งศูนย์พักคอย ระบบดูแลตนเองที่บ้าน (Home Isolation-HI) หรือระดับชุมชน (Community Isolation-CI) ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยแยกผู้ที่ป่วยออกจากผู้ที่ไม่ป่วยได้เร็วขึ้น ลดจำนวนผู้ป่วย ผู้รอเตียงที่บ้าน รวมทั้งลดการเสียชีวิตที่บ้าน

สำหรับในพื้นที่จังหวัดที่เป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรม ขอให้มีการหารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อเข้าระบบ Bubble and Seal เพิ่มเติมจากระบบดูแลตนเองที่บ้าน HI และที่ชุมชน CI โดยให้จัดระบบการดูแลที่โรงงาน (Factory Isolation-FI ) ลดการแพร่ระบาดนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในกลุ่มผู้ประกันสังคมอยู่แล้ว โดยนายจ้างจะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท/ลูกจ้าง ไม่เกิน 200 คน ขณะที่ลูกจ้างผู้ประกันตน ม. 33 จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 3,000 บาท ถือว่าเป็นเงินหมุนเวียนในเบื้องต้น พร้อมฝากผู้ว่าราชการจังหวัด หากมีคำสั่งปิดสถานที่หรือปิดตลาด ก็ขอให้มีมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนด้วย

ส่วนปัญหาเตียงผู้ป่วย นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในพื้นที่ที่เป็นโรงพยาบาลหลักว่า สามารถจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ทีมหมอและพยาบาลที่มีอยู่สามารถดูแลได้เพิ่มเติม รวมทั้งให้มีการยกระดับขีดความสามารถเตียงในโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองหรือสีแดงให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสนับสนุนภาคเอกชนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในโรงงานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ยืนยันว่า เวชภัณท์ต่างๆ ทั้งยารักษา ยาฟาวิพิราเวียร์ ออกซิเจนและถังออกซิเจน ยังมีเพียงพอ รวมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลป้องกันการกักตุนสินค้าด้วย หากจังหวัดไหนขาดเหลือสิ่งใดก็สามารถยื่นของบประมาณ ตามลำดับขั้นตอนได้ รวมทั้งแผนการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆยังคงเป็นไปตามนโยบาย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าสิ่งสำคัญในขณะนี้คือ การเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง ซึ่งจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องดูและประสิทธิภาพการให้บริการทั้งในส่วนของโทรศัพท์สายด่วน Call Center ศูนย์พักคอย การจัดให้มีทีมดูแลประชาชนตามหมู่บ้าน เพื่อนำผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษาให้มากขึ้น ลำดับต่อไปที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอยากเห็นคือ "หมู่บ้านสีฟ้า" ที่ ประชาชนและชุมชน ช่วยเหลือแบ่งปันดูแลซึ่งกันแลกัน ร่วมกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ