นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากสถานการณ์จริงกับตัวเลขคาดการณ์จากโมเดล พบว่าหากไม่มีการล็อกดาวน์ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 40,000 ราย โดยคาดว่าจะถึงสูงสุดในวันที่ 14 ก.ย. 64 แต่ทั้งนี้ประเทศไทยได้มีมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ซึ่งหากมาตรการในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อได้ 20-25% นาน 1 เดือน จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่ 30,000 ราย/วัน โดยตัวเลขสูงสุดจะอยู่ในช่วงต้นเดือนส.ค. 64 และหากการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ 20-25% นาน 2 เดือน จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่ 20,000 ราย/วัน
ส่วนการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิต พบว่าหากไม่มีการล็อกดาวน์ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่ 500 ราย โดยคาดว่าจะสูงสุดในวันที่ 28 ก.ย. 64 แต่ประเทศไทยได้มีมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ซึ่งหากสถานการณ์ปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต 20-25% นาน 1 เดือน จำนวนผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 400 ราย/วัน โดยตัวเลขสูงสุดจะอยู่ในช่วง 26 ต.ค. 64 อย่างไรก็ดี ภาครัฐกำลังพยายามเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป รวมถึงการล็อกดาวน์ ซึ่งหากมีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน จะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 100 ราย/วัน
"การล็อกดาวน์ ไม่ได้แปลว่าล็อกดาวน์วันนี้แล้วจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที เราจะเห็นจำนวนผู้เชื้อเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากมาตรการในช่วงต้นเป็นการทำให้ผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงมากเกินไป หลังจากนั้นอีกประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงจะสามารถเห็นผลของมาตรการล็อกดาวน์ได้ ทั้งนี้ทาง สธ. จะมีการประเมินผลของการล็อกดาวน์อีกเป็นระยะๆ" นพ.โอภาส กล่าว
พร้อมกันนี้ ในเดือนส.ค.64 จะเริ่มมีการจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดต่างๆ นอกเหนือจากกทม. เนื่องจากในกทม. มีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งในเดือนส.ค. จะได้รับการจัดสรรวัคซีนมาทั้งหมดจำนวน 10 ล้านโดส โดยจะทำการจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งจะเน้นที่กลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์), กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), กลุ่มพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก และกลุ่มเป้าหมายพิเศษในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น กระบี่ พังงา เป็นต้น
สำหรับการฉีดวัคซีนจะเป็นรูปแบบ SA คือการฉีดวัคซีนแบบสลับ เข็มแรกเป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็มสองถัดไปอีก 3 สัปดาห์ เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ให้ภุมิคุ้มกันได้สูงเกือบเท่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นจาก 12 สัปดาห์ มาเหลือ 3 สัปดาห์ ขณะที่ผู้เสียชีวิตในรายที่ระบุว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนแบบ SA นั้น จากการวินิจฉัยพบว่าเป็นการเสียชีวิตจากปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
นพ.โอภาส กล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์ที่วันนี้ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐฯ จำนวน 1.5 ล้านโดส จะมีรูปแบบของการใช้วัคซีน คือ ใน 1 ขวด สามารถผสมน้ำเกลือได้ 2.25 มล. หรือได้ขวดละ 6 โดส (1 โดส เท่ากับ 0.3 มล.) โดยจะฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งวัคซีนนีสามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยจะต้องทำการเก็บรักษาในอุณหภูมิ -70 ถึง -60 องศาเซลเซียส จะสามารถอยู่ได้ 6 เดือน แต่ถ้าเก็บในอุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส จะสามารถอยู่ได้ 1 เดือน โดยจะมีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. บุคลการทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยจะเป็นการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิเข็ม 3 ซึ่งจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 700,000 โดส
2. กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู่ป่วย 7 โรคเรื้อรังที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัดที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 645,000 โดส
3. ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเป็นกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่นนักเรียน นักศึกษา โดยจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 150,000 โดส
4. ทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม ซึ่งจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 5,000 โดส
เปิดไทม์ไลน์วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส เริ่มฉีด 9 ส.ค.
นพ.โอภาส กล่าวถึงแผนการใช้วัคซีนไฟเซอร์ ล็อตที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ จำนวน 1.5 ล้านโดส โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้
- วันที่ 30 ก.ค. นำไปจัดเก็บที่คลังวัคซีนอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ของบริษัทซิลลิค ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด และจะมีการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- วันที่ 2 ส.ค. ได้รับผลตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย
- วันที่ 3-4 ส.ค. บริษัทจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ และแพ็ควัคซีนเพื่อเตรียมจัดส่ง
- วันที่ 5-6 ส.ค. จัดส่งวัคซีนล็อตแรกให้หน่วยบริการต่างๆ เพื่อจัดสรรแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 และส่งวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ในการฉีดวัคซีนเข็ม 1
- วันที่ 7-8 ส.ค. เตรียมความพร้อมของระบบในการฉีดวัคซีน
- วันที่ 9 ส.ค. หน่วยบริการเริ่มฉีดวัคซีน
- กลางเดือนส.ค. จะทำการจัดส่งวัคซีนเข็ม 2 เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมภายในสิ้นเดือนส.ค.
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแผนการเพิ่มกลุ่ม CCRT (Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team : Bangkok ) ในวันที่ 4-10 ส.ค. โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากต่างจังหวัดเพิ่มอีก 50 ทีม รวม 500 คน เข้ามาร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 69 ศูนย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจ Antigen Test Kit (ATK), ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง และให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่กทม. โดยการเพิ่มเจ้าหน้าที่ในระยะเวลา 6-7 วันนี้ คาดว่าจะสามารถทำการตรวจเชิงรุกได้จำนวน 4-5 แสนราย/วัน