สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อวิกฤตโควิด-19 โดยส่วนใหญ่ 91.71% เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้มีความรุนแรง ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รองลงมา 87.35% เห็นว่าการทำมาหากินลำบาก สภาพจิตใจย่ำแย่ ตามด้วย 80.81% เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน, 70.72% เห็นว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตมาก ยังมองไม่เห็นทางออก และ 69.49% เห็นว่ามีประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น
ขณะที่ประชาชน 33.64% คิดว่าไม่ค่อยมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง รองลงมา 24.76% คิดว่ามีอิสระมาก ตามด้วย 21.25% คิดว่ามีอิสระพอสมควร และ 20.35% คิดว่ามีอิสระน้อย โดยช่องทางในการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่คือ การพูดคุย รองลงมาคือ การแชตทางไลน์ (Line) , โพสต์บนเฟซบุ๊ก, การพูดคุยทางโทรศัพท์ และโพสต์บนทวิตเตอร์ (Twitter)
โดยประชาชนส่วนใหญ่ 79.02% คิดว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย รองลงมา 68.44% คิดว่าเป็นการสะท้อนการทำงานทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตามด้วย 67.77% ต้องการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา, 58.90% เป็นการระบายความอัดอั้นตันใจวิธีหนึ่ง และ 56.34% อาจมีผู้ไม่หวังดี สร้างกระแส โจมตีกัน
ขณะที่มีแนวทางการแสดงความคิดเห็นโดยเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น 73.38%, ใช้สิทธิของตนเองอย่างเหมาะสม 66.24%, เน้นสร้างสรรค์ เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหา 65.04%, ไม่ยั่วยุ สร้างความแตกแยก 58.47% และแสดงความคิดเห็นในขอบเขตที่สามารถแสดงได้ 57.22%
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 68.88% ยังเห็นด้วยกับการที่ศิลปินดารา/อินฟลูเอนเซอร์ออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ แต่อีก 16.22% ไม่เห็นด้วย และ 14.90% ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในยามวิกฤติ โควิด-19 ทางออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,121 คน ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค.ที่ผ่านมา