พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ขบวนปฐมฤกษ์ ผ่านระบบ Video Conference จากตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือน พ.ย.64
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปี (2561-2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาขนส่งทางรางซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมการขนส่งทางรางให้เป็นระบบการคมนาคมหลักของประเทศ เพื่อช่วยให้การเดินทางคล่องตัว ลดการจราจร รักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดการใช้พลังงาน
โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง นอกจากจะเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯไปปริมณฑลได้สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย ยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง
นอกจากนี้ ในระยะยาวจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน และนับเป็นก้าวสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และจะมีการเร่งรัดขยายไปยังเส้นทางอื่นๆในแต่ละภูมิภาคด้วย
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายเหนือช่วงบางซื่อ-รังสิต มีระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี ใช้ระยะเวลาเดินทาง 25 นาที และสายตะวันตก ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ใช้ระยะเวลาเดินทาง 15 นาที โดยมี บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง
การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 2 เส้นทางถือเป็นปฐมฤกษ์จะให้บริการฟรีโดยไม่เสียค่าโดยสาร สามารถใช้บริการฟรีไปจนถึงปลายปี 64 ตั้งแต่เวลา 6.00-20.00 น.และในช่วงเวลาเร่งด่วนจะเดินรถทุก 15 นาที และช่วงปกติจะเดินรถทุก 30 นาที แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะจำกัดผู้โดยสารไม่เกิน 50% เพื่อรักษาระยะห่าง โดยจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในเดือน พ.ย.64
รถไฟชานเมืองสายสีแดงยังได้บูรณาการเชื่อมต่อกับการเดินทางอื่นเพื่อความสะดวก โดยมีการเชื่อมต่อเส้นทางรถประจำทาง การเชื่อมต่อทางถนนกับรถประจำทาง ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ขสมก. มีการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อรองรับการเชื่อมต่อสถานีสายสีแดง มีการบริหารจัดการระเบียบรถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะต่างๆ เพื่อไว้รองรับประชาชนที่มาใช้บริการ
และการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยที่สถานีบางซื่อจะมีการเดินทางใต้ดินที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีบางซ่อน ทางเดินสกายวอล์คเชื่อมกับสนามบินนานาชาติดอนเมือง รวมทั้งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีหลักสี่ และอยู่รหว่างสร้างสกายวอล์คเพื่อเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้จะทำให้ประชาชนที่อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงเทพ สามารถใช้รถไฟชานเมืองสายสีแดงเพื่อเข้าสู่กรุงเทพชั้นในด้วยความสะดวกรวดเร็วปลอดภัย
นอกจากนี้ รฟท.ยังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการส่วนต่อขยายสายสีแดง ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ,สถานีศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล , สถานีธนบุรี ศิริราช, สถานีหัวหมาก, สถานีหัวลำโพง เพื่อให้โครงข่ายสายสีแดงขยายไปทุกทิศทาง เพื่อให้ประชาชนได้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น
สำหรับสถานีกลางบางซื่อที่เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายรถไฟทางไกลของการรถไฟฯ รวมถึงการเชื่อมต่อระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 68 นอกจากนี้ สถานีกลางบางซื่อยังมีแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งภายในตัวสถานีและพื้นที่รอบสถานีเพื่อให้มีการพัฒนาสถานีและพัฒนาเมืองในลักษณะ Smart City ควบคูกันไปด้วย
การพัฒนารถไฟชานเมืองสายสีแดงได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือกับประเทศไทยในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ามาแล้วหลายโครงการ นับเป็นความร่วมมือที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทยและญี่ปุ่นแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายด้วยระบบรางมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการดำเนินการสถานีกลางบางซื่อและโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญยิ่ง ในการเดินทางระบบรางของประเทศ
โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ ถือว่าเป็นศูนย์กลางระบบรางของประเทศไทย และเป็นสถานีกลางที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน มีรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าในทุกเส้นทาง เป็นศูนย์กลางรถไฟทางไกลสู่ทุกภูมิภาค และยังเป็นศูนย์กลางของรถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทางที่จะเชื่อมต่อประเทศไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงเส้นทางสายใหม่ยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 โดยจะเปิดใช้เต็มรูปแบบในเดือน พ.ย.64 นี้
ในการเปิดให้ทดลองใช้รถไฟชานเมืองสายสีแดงในวันนี้ (2 ส.ค.)ไปจนถึงปลายเดือนพ.ย.64 สถานีกลางบางซื่อได้แบ่งพื้นที่ 2 ส่วน พื้นที่แรกเป็นการให้บริการขนส่งมวลชนทางราง จะใช้บริเวณประตูที่ 1 และอีกพื้นที่เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนบางซื่อเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน โดยใช้ประตูที่ 2-4 ที่แยกสัดส่วนชัดเจน และเปิดบริการทางเชื่อมทางไปรถไฟสายสีน้ำเงิน
"รถไฟสายสีแดง จะเปิดให้บริการฟรีไปจนถึงเดือนพ.ย. นี้ แต่ทั้งนี้ คงจะต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง ว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับการเดินรถ ให้รฟท.พิจารณารายละเอียดมากกว่าปกติ โดยเฉพาะการบริหารความถี่เดินรถที่เหมาะสม ในช่วงที่มีคนเดินทางมาก ช่วงมีคนใช้น้อย เพื่อความคุ้มค่าเพราะการเดินรถแต่ละเที่ยวจะมีค่าใช้จ่ายคงที่ ต้องดูรายได้ที่จะเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมทดลองใช้ เส้นทางบางซื่อ-รังสิตใช้เวลา 25 นาที เส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน ใช้เวลา 15 นาทีเท่านั้น ขณะที่รถยนต์ ใช้เวลามากกว่า 1 ชม."
สำหรับอัตราค่าโดยสาร รถไฟสายสีแดง เป็นค่าแรกเข้าที่ 12 บาท ส่วนราคาในการเดินทางแต่ละสถานี จะอยู่ที่ประมาณ 2.1 บาท/กม. ปัดเศษเหลือ 2 บาท ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ในแต่ละเส้นทาง และได้มอบหมายให้ สนข.และกรมรางศึกษาตั๋วพิเศษ ตั๋วเดือน สำหรับผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส เพื่อช่วยลดค่าครองชีพได้อีก
ส่วนเดินทางเชื่อมต่อ จากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินมายังสายสีแดงจะไม่คิดค่าแรกเข้าหรือจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวที่ต้นทาง ส่วนการเดินทางจากสีแดงเชื่อมเข้าระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินนั้นเบื้องต้นยังคงต้องจ่ายค่าแรกเข้า MRT โดยจะมีการเจรจากับเอกชน เพื่อให้เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว
ส่วนอัตราค่าโดยสารกับรายได้ของรฟท.นั้น ได้ให้ศึกษาในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อนำรายได้มาชดเชยค่าโดยสาร รวมถึงให้ดูแลค่าใช้จ่ายของรถไฟสายสีแดงได้คุ้มทุน โดยมอบหมายให้นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานพิจารณาหลักคือ ให้โครงการบริการได้และอยู่รอด ซึ่งโครงการรถไฟสายสีแดง รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหมด และประมาณ 2-3 ปี ข้างหน้าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M)