นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมาก แม้จะขยายเตียงรองรับกว่า 1.85 แสนเตียงก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ได้จัดระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community Isolation) โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และคลินิกชุมชนอบอุ่น ดูแลติดตามอาการ และมีหน่วยเชิงรุกในชุมชน หรือ CCR Team สนับสนุนการดำเนินงาน ใน กทม.มีแล้วประมาณ 200 ทีม
รวมทั้งในช่วงล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์นี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบทได้จัดหน่วย CCR Team โดยบุคลากรสาธารณสุขจิตอาสาหลายสาขาวิชาชีพในภูมิภาค เช่น แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ ซึ่งมีความชำนาญในการจัดบริการปฐมภูมิ จำนวน 39 ทีมภูธร จากภาคเหนือ 7 ทีม ภาคกลาง 10 ทีมภาคตะวันออก 2 ทีม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 ทีม และภาคใต้ 9 ทีม ร่วมดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้ และคาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 40 กว่าทีม
"หน่วยเชิงรุก CCR Team มีความสำคัญในการช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ กทม. เนื่องจากช่วยแยกผู้ติดเชื้อในชุมชน ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ โดยเข้าไปตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อในชุมชนด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากพบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่การรักษาที่บ้านหรือชุมชนตามระบบ ให้ยารักษา หากมีอาการรุนแรงจะส่งต่อ ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงร่วมบ้านร่วมงานมาตรวจหาเชื้อ รวมถึงฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ นอกจากนี้ ทาง กทม.มีการจัดหาถุงยังชีพ และภาคเอกชนร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้อาหารมาสนับสนุน ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการใช้เตียงในโรงพยาบาล" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของทีม CCR Team กระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 3 แสนชุด ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองวันละ 35,000 ราย โดยภายใน 7 วันจะตรวจคัดกรองให้ได้ไม่น้อยกว่า 250,000 ราย คาดว่าอาจพบผลบวก 15% หรือประมาณ 32,500 ราย โดยประมาณ 1 ใน 3 ต้องการยาฟาวิพิราเวียร์ จึงสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์อย่างน้อย 6 แสนเม็ด เริ่มดำเนินการวันพรุ่งนี้ (4 สิงหาคม 2564) เป็นวันแรก