นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า "BKK HI Care" ในการติดตามและดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีเขียว ที่รักษา/กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) อย่างใกล้ชิด ตลอดจนผู้ป่วยสามารถรายงานและรับคำแนะนำการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์และพยาบาล เช่น การวัดอุณหภูมิร่างกาย และการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดตามเวลาที่กำหนด แล้วแจ้งผลให้ทางสถาบัน/โรงพยาบาลทราบทันที ซึ่งระบบนี้ดำเนินการผ่าน Line Application โดยการสแกน QR Code หรือแอดไลน์ เมื่อมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยได้เข้าทำการตรวจเชื้อหรือรักษา โดยไม่ต้องโหลดแอพพลิเคชันใหม่
ปัจจุบันมีสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 285 แห่ง มีผู้ป่วยที่อยู่ในระบบแล้วกว่า 9,000 ราย ซึ่งจะช่วยทำให้ 1 คลินิกชุมชนดูแลผู้ป่วยได้ถึง 200 ราย หรือแพทย์ 1 ท่าน ดูแลผู้ป่วยได้ถึง 30 ราย พร้อมกันนี้ยังสามารถช่วยเก็บบันทึกรายงานการรักษารายวัน การสั่งยา การวัดอุณหภูมิ และอาหารที่รับแต่ละวัน
โดยระบบนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับสถาบัน/โรงพยาบาลในการติดตามดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว รักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ ในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลแบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ซึ่งหากผู้ป่วยแสดงอาการที่มีข้อบ่งชี้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ทางสถาบัน/โรงพยาบาลจะรับผู้ป่วยเข้ามารักษาได้อย่างสะดวก เป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถรายงานสุขภาพที่เข้าถึงได้โดยง่าย โดยระบบนี้ แพทย์ พยาบาล สามารถเข้าถึงผ่านมือถือ Tablet หรือ PC ได้ ซึ่งครอบคลุมทั้ง Windows, Android และ IOS
ทั้งนี้ แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย Home Isolation ผ่าน "BKK HI Care" มีดังนี้ 1.มอบชุดสำหรับ Home Isolation (BKK HI CARE kit) ซึ่งประกอบไปด้วย หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล/ สเปรย์/ ถุงแดง แผ่นพับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว แผ่นบันทึกอาการ (กรณี ไม่มี Smart phone) Pulse oximeter (เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด) Digital thermometer (เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล) และยาฟ้าทะลายโจรหรือยาฟาวิพิราเวียร์ 2.บริการจัดส่งอาหารทุกวัน 3.ให้ผู้ป่วยวัดอุณหภูมิร่างกาย และวัดปริมาณออกซิเจนในร่างกาย วันละ 2 ครั้ง และรายงานอาการ และ4.เจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข ติดตามดูแล สังเกตอาการผู้ป่วย ผ่านระบบ BKK HI Care /โทรศัพท์ เป็นระยะเวลา 14 วัน
ปัจจุบันรัฐบาลดำเนินการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ให้เพียงพอ ทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศ และการผลิตเองในประเทศ โดยขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เริ่มผลิตได้ และจะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้มีศักยภาพการผลิตอยู่ที่เดือนละ 2-4 ล้านเม็ด แต่ในเดือนกันยายนคาดว่าจะผลิตได้จำนวน 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้น ไปจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน ขอให้ประชามั่นใจว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอต่อการรักษาอย่างแน่นอน