นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สถานการณ์ระบาดในประเทศไทยยังคงรุนแรง กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ หากทำมาตรการที่ไม่เข้มข้นเพียงพอ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ศึกสงครามจะยืดยาว และประชาชนจะยืนระยะไม่ไหว
"4 ส.ค. 64 วันแรกที่ตัวเลขเกินสองหมื่นคน วันแรกที่ตัวเลขสูญเสีย 188 ราย และเป็นวันแรกที่ไม่มีสีเขียว และสีขาว Outputs = Strategy * Capacity * Moral ผลที่เห็นนั้นย่อมมาจากสามปัจจัยข้างต้น นโยบายและมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ย่อมมาจากคำแนะนำ ปรึกษา และการตัดสินใจที่มิได้ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมต่อสถานการณ์ ระบบบริหาร และวงวิชาการ จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยน" นพ.ธีระ กล่าว
นพ.ธีระ ระบุว่า ควรทุ่มสรรพกำลังไปกับการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองโรคให้ครอบคลุม ทั้งแบบตั้งรับ และเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยควรทำให้มากกว่าที่เคยมี และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งควรมีระบบรายงานผลที่เก็บได้ครบถ้วน ไม่หลุด และนำส่งผู้ที่ติดเชื้อไปเข้ารับการดูแลรักษา ไม่เปิดรับความเสี่ยงเพิ่ม และเร่งจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงมาใช้เป็นวัคซีนหลัก คือหัวใจสำคัญในการต่อสู้กับสถานการณ์ระบาดรุนแรงเช่นนี้ โดยจำเป็นต้องวางแผนเยียวยา ประคับประคอง ให้ประชาชนสามารถพอดำรงชีวิตได้
สำหรับประชาชนทุกคน ขอให้ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้ตนเองและครอบครัวไม่ติดเชื้อ ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
นพ.ธีระ มองว่าไม่คิดว่าการซื้อขายอาหารหน้าร้านจะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ขอเพียงให้เว้นระยะห่างกันระหว่างรออาหาร ใส่หน้ากากเสมอ และล้างมือหรือใช้สเปรย์แอลกอฮอล์หลังจากจับต้องสิ่งของหรือเงินก็เพียงพอ แต่การห้ามนั่งกินดื่มในร้านอาหาร ผับ บาร์ นั้นเป็นที่เข้าใจได้และสมเหตุสมผลในยามระบาดรุนแรงเช่นนี้ เพราะมีหลักฐานวิชาการชัดเจนว่ามีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อติดเชื้อ
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกวันที่ 4 ส.ค. 64 ทะลุ 200 ล้านคน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรง และวิกฤติแซงเม็กซิโกขึ้นมาเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รองจากอเมริกา, อินเดีย, บราซิล, โคลอมเบีย และอิหร่าน โดยวานนี้ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 588,153 คน รวมขณะนี้ 200,197,883 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 9,319 คน ยอดเสียชีวิตรวม 4,257,833 คน โดย 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือประเทศอเมริกา, อินเดีย, อิหร่าน, อินโดนีเซีย และบราซิล
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก ด้วยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) วันที่ 3 ส.ค. 64 พบว่าสายพันธุ์เดลตากำลังนำไปสู่ระบาดรุนแรงทั่วโลก โดยตอนนี้กระจายไปแล้ว 135 ประเทศ ซึ่งถือว่าระลอกล่าสุดนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน ในขณะที่สายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7, สหราชอาณาจักร) ตรวจพบได้แล้วใน 182 ประเทศ, สายพันธุ์เบตา (B.1.351, แอฟริกาใต้) 132 ประเทศ และสายพันธุ์แกมม่า (P.1, บราซิล) 81 ประเทศ
ทั้งนี้สายพันธุ์เดลต้านั้นมีสมรรถนะในการแพร่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นในกลุ่ม variants of concern ประมาณ 55% (43%-68%) ซึ่งมีความรุนแรง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น โดยผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตานั้นมีปริมาณไวรัสที่ตรวจพบมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมสมัยปี 63 ถึง 1,260 เท่า ซึ่งแปลว่าสายพันธุ์เดลตานั้นมีอัตราการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในร่างกายผู้ติดเชื้อเร็วมาก จึงเป็นสาเหตุทำให้ไวรัสมีจำนวนมาก และทำให้แพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก
นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถตรวจพบไวรัสได้เฉลี่ย 4 วันหลังจากที่สัมผัสเชื้อมา ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีค่าเฉลี่ยราว 6 วัน จึงถือว่าเป็นศึกหนักของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่จะต้องป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตานี้ให้ได้