ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,603 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,119 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 3,159 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 313 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 12 ราย มาจากเมียนมา มาเลเซีย ประเทศละ 3 คน และจากรัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ประเทศละ 2 คน
- เสียชีวิต 149 ราย เพศชาย 84 ราย เพศหญิง 65 ราย อายุเฉลี่ย 4 เดือน-103 ปี (ค่ากลาง 64 ปี) โดยอายุน้อยสุดอยู่ที่ 4 เดือน เป็นเด็กทารกเมียนมา อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ และเมื่อวานนี้ ( 8 ส.ค.) มีรายงานทารกอายุ 14 วันเสียชีวิตเช่นกัน ซึ่งเป็นชาวเมียนมาจากเพชรบูรณ์ โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ คิดเป็น 65% และมีโรคประจำตัว 19% รวมแล้ว 84%
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ขณะนี้มีตัวเลขเด็กติดเชื้อตอนนี้ประมาณ 3 หมื่นกว่าราย เสียชีวิต 9 ราย โดย 8 ใน 9 ราย มีรายงานว่า มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ หากมีเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน และยังมีคนที่บ้านต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้าน มีคำแนะนำว่า ควรมีการแยกห้องนอนผู้สูงอายุ แต่ถ้าหากมีพื้นที่จำกัดไม่สามารถแยกห้องนอนได้ อาจมีม่านหรือฉากกั้นสามารถช่วยได้ และเน้นให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเท และต้องมีการแยกของใช้ ชาม ช้อน ผ้าเช็ดตัว ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในบ้าน เช่น ตู้เย็น ลูกบิดประตู โถส้วม อ่างล้างหน้า ราวบันได เป็นต้น ส่วนบ้านที่ต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน ควรให้ผู้สูงอายุได้ใช้ห้องน้ำก่อนและทำความสะอาดบ่อยๆ
ทั้งนี้ หากเป็นผู้สูงอายุติดเตียงที่ต้องมีคนดูแล เช่น ช่วยพลิกตัว ช่วยป้อนอาหาร กรมควบคุมกำหนดว่า ควรมีคนดูแลเพียงคนเดียว และควรเป็นคนที่อยู่บ้านมากที่สุด เดินไปในชุมชนน้อยมาก ขณะที่ให้การดูแลต้องสวมหน้ากากอนามัย ถ้าผู้สูงอายุไม่มีปัญหาทางเดินหายใจ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยให้ด้วย หรืออาจต้องสวมถุงมือและทิ้งขยะให้ถูกต้องด้วย
นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำว่า ต้องสังเกตอาการผู้สุงอายุด้วย เพราะบางทีลูกหลานเดินทางไปที่ทำงาน อาจมีการติดเชื้อมาที่ผู้สูงอายุ ซึ่งอาจไม่ทราบว่า ผู้สูงอายุติดเชื้อ และอาจมีอาการซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย เหนื่อยมากขึ้น จึงควรสังเกตอาการ วัดอุณหภูมิเป็นประจำวันละ 2 ครั้ง ส่วนการแยกให้ผู้สูงอายุอยู่ห่าง 2 เมตรจากคนในบ้าน อาจใช้เทคโนโลยีพูดคุยกันก็ได้ จะได้ไม่รู้สึกอ้างว้าง และสามารถติดตามข้อมูลในคู่มือของกรมควบคุมโรคได้
ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จากข้อมูลผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 18 ก.ค.-7 ส.ค. 2564 รวม 2,417 ราย พบว่า กลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิตและไม่ได้รับวัคซีนจำนวน 838 ราย และเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีน 1 เข็ม โดยมีระยะติดเชื้อน้อยกว่า 2 สัปดาห์มีจำนวน 149 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตที่ได้รับเข็ม 1 โดยมีระยะติดเชื้อเกิน 2 สัปดาห์ มีจำนวน 82 ราย และผู้เสียชีวิตที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีจำนวน 13 ราย ซึ่งถือตัวเลขน้อยที่สุด ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำการเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และแม้ฉีดวัคซีนติดเชื้อเสียชีวิตก็มีเพียง 0.5%
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 776,108 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 19,819 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 6,353 ราย
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,114 ราย, สมุทรปราการ 1,388 ราย, สมุทรสาคร 1,378 ราย, ชลบุรี 1,318 ราย, นนทบุรี 803 ราย, ปทุมธานี 708 ราย, อุบลราชธานี 615 ราย, นครปฐม 557 ราย, สระบุรี 504 ราย, นครราชสีมา 440 ราย
วันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้น ที่ จ.ปทุมธานี ที่บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า อ.เมือง จำนวน 9 ราย , จ.สระบุรี ที่บริษัทโลหะแผ่น อ.หนองแค จำนวน 28 ราย , จ.ฉะเชิงเทรา ที่บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อ.เมือง จำนวน 12 ราย , จ.ราชบุรี ที่โรงงานแปรรูปไก่ อ.เมือง จำนวน 46 ราย , จ.จันทบุรี ที่ตลาดโบลิ่ง อ.เมือง จำนวน 16 ราย , จ.กาญจนบุรี ที่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร อ.เมือง จำนวน 31 ราย , จ.ชุมพร ที่โรงงานน้ำแข็ง อ.ละแม จำนวน 30 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้มีหน่วยปฐมภูมิมี 246 หน่วย พาผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation แล้วประมาณ 100,000 คน ส่วน Community isolation ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 67 แห่ง และขยายศักยภาพเตียงทุกกลุ่มเขต 8,886 เตียง โดยจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเป็นหลัก และ Community isolation ในบางจุด สามารถทำเป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนามได้แล้ว 7 แห่งสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองได้ และที่ผ่านมามีเตียงผู้ป่วยสีแดงที่ได้รับอนุญาตกลับบ้านได้ประมาณ 14,000 เตียง และเฉพาะในกทม. มีเตียงผู้ป่วยระดับสีแดง เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 เตียง แต่การขยายศักยภาพเตียงแดงทำได้ลำบาก เพราะต้องการบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางและต้องการเครื่องมือที่อยู่ในระดับห้องไอซียูด้วย
ส่วน รพ.บุษราคัม มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 3,674 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยระดับอาการสีเหลืองอ่อน 3,311 ราย สีเหลือง 346 ราย และผู้ป่วยสีแดง 17 คน นอกจากนี้ ปรับศักยภาพโรงพยาบาลสนามให้ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มได้ 2,000 กว่าเตียง และ Hospitel ทุกแห่งปรับให้ดูแลผู้ป่วยระดับสีเหลืองอ่อนได้อีก 4,000 กว่าเตียง ส่วนการจัดรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการเปลี่ยนแปลงและต้องเข้ารับการรักษาในระดับสีแดง วันละเกือบ 500 เที่ยวต่อวันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ที่ประชุม EOC สาธารณสุข เช้านี้มีข้อสรุปว่า ผู้ที่มีผลตรวจ Antigen Test Kit สามารถเข้ารักษาในระบบ Home Isolation ได้ทันที โดยไม่ให้ผลการตรวจ RT-PCR เป็นอุปสรรคต่อการรักษา
ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาล จะพบอัตราการพบผลบวก หรือติดเชื้อ อยู่ที่ 40% ส่วนต่างจังหวัด 25% ขณะที่การตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit ทั้งการคัดกรองเชิงรุก หรือตรวจโดยสถานพยาบาลทั่วกรุงเทพมหานคร พบผลบวก 10-14%
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 9 ส.ค. ได้มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 900 เข็ม และหากนับตั้งแต่มีการฉีดเข็มที่ 1 ตั้งแต่ 28 ก.พ. เป็นต้นมา มีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 182,082 ราย ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ได้ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์เมื่อวานนี้ 23,481 ราย และมียอดรวมที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั้งหมด 39,483 ราย
สำหรับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เบื้องต้นกรมควบคุมโรคจะจัดสรรให้ 50-60% ของความต้องการที่ได้รับสำรวจไว้ก่อน และหลังจากนั้นจะมีการสำรวจศักยภาพการฉีดในแต่ละจุด และจะมีการจัดสรรวัคซีนเพิ่มให้แน่นอน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5-6 ส.ค. ทางกรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนล๊อตแรกลงไปหน่วยฉีดเรียบร้อย ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกโรงพยาบาลจะฉีดได้ แต่จะมีการกำหนดหน่วยฉีดซึ่งมีสำนักงานสาธารณาสุขจังหวัด หรือ สสจ.เป็นผู้กำกับ และให้มีการรายงานผลการฉีดมายังศบค.ด้วย เพราะสังคมจับตาเรื่องความโปร่งใส
ส่วนกลุ่มนักเรียนที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ขอให้ติดต่อยื่นความประสงค์รับวีคซีน โดยลงทะเบียนสแกนคิวอาร์โค้ดและรับ SMS แจ้งนัดหมายเข้ารับการฉีดวัคซีน
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 203,441,157 ราย เสียชีวิต 4,307,387 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 36,543,338 ราย อันดับ 2 อินเดีย 31,969,588 ราย อันดับ 3 บราซิล 20,165,672 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,447,750 ราย และอันดับ 5 ฝรั่งเศส 6,305,158 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 37