นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (9 ส.ค.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,272 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 14,343 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 37,796 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,234 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,538 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 16,637 ล้าน ลบ.ม.
ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปี ปัจจุบันมีการทำนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 13.26 ล้านไร่ คิดเป็น 79% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.23 ล้านไร่ คิดเป็น 78% ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 165,000 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมด (265,000 ไร่) ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ส่วนพื้นที่ที่เหลือคาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลากต่อไป
สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มเจ้าพระยา ปัจจุบัน (9 ส.ค.64 เวลา 07.00 น.) ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล วัดค่าความเค็มได้ 0.16 กรัม/ลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เนื่องจากปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องปรับลดการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการตามมาตรการใช้น้ำส่วนเกิน มาควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแทนการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือ มายังสถานีสูบน้ำสิงหนาท 2 ในอัตรา 15 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 20-23 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุตนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่ยังคงมีปริมาณน้ำท่าค่อนข้างน้อย ต้องบริหารจัดการน้ำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ขณะที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ไว้ว่าในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติ จึงขอให้กรุงเทพมหานครและกรมชลประทานดำเนินงานตามเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านอาคารชลศาสตร์ และเครื่องจักร-เครื่องมือ สำหรับการรับมือปริมาณน้ำฝนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะสามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมและคนกทม.ได้อย่างทันท่วงที