พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวรนครบาล (ผบช.น.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการดูแลความเรียบร้อยจากการชุมนุมช่วงบ่ายวันนี้ โดยมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน แต่ต้องการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งในการชุมนุม 2 ครั้งล่าสุดก็ยังคงใช้อุปกรณ์ในการควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานสากล ไม่ได้ใช้อาวุธปืนแม้จะเกิดเหตุรุนแรง เช่น การวางเพลิงสถานที่ราชการ การใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่
"ตำรวจไม่มีเจตนาที่จะทำร้าย และพยายามบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน" พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าว
สำหรับการชุมนุมเมื่อวานนี้ (10 ส.ค.64) มารายงานข่าวการเตรียมก่อเหตุรุนแรง เจ้าหน้าที่จึงได้ตั้งจุดตรวจจุดสกัดบริเวณโดยรอบแยกราชประสงค์ สามารถตรวจยึดหนังสะติ๊ก, ลูกเหล็ก, พลุ, ประทัดยักษ์ได้เป็นจำนวนมาก และในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมเป็นระยะ ๆ ก่อนที่จะมีการใช้รถฉีดน้ำ การยิงกระสุนยาง การยิงแก๊สน้ำตา ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. ได้เกิดเหตุวางเพลิงจุดควบคุมสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกดินแดง และสถานีย่อยบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เจ้าหน้าที่ได้ถอนกำลังออกนอกแนว เพื่อดำเนินการดับไฟ
โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ชุมนุมได้ 48 ราย เป็นชาย 45 ราย หญิง 3 ราย ยึดรถจักรยานยนต์ได้ 122 คัน ซึ่งกำลังดำเนินการตรวจสอบ เนื่องจากบางส่วนไม่มีป้ายทะเบียนและหลักฐานประจำรถ ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 9 นาย โดยถูกยิงด้วยอาวุธปืน 1 นาย ส่วนที่เหลือถูกระเบิดปิงปอง พลุ และก้อนหิน
"การใช้รถฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา และกระสุนยางนั้น ได้ประเมินสถานการณ์แล้วว่าหากไม่ทำ จะเกิดผลกระทบที่รุนแรงมากกว่านั้น" พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าว
ผบช.น.กล่าวว่า ตำรวจยังสามารถควบคุมสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้ และหวังว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงไปกว่านี้ โดยยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องขอความช่วยเหลือจากทหาร
ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจคำนึงถึงหลักนิติรัฐนิติธรรม เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะใช้ความรุนแรงเพียงใด ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะ ซึ่งการปฏิบัติการทุกครั้งจะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา และไม่ปฏิบัติการที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
และจากเหตุชุมนุมเมื่อวานนี้ มีการเผยแพร่ข่าวปลอม 2 กรณี คือ กรณีแรก "เด็กช่างกลถูกยิงหัว" โดยนำภาพผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า เนื่องจากขี่รถจักรยานยนต์ชนท้ายรถกวาดถนน โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อให้คนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืน ส่วนอีกกรณีเป็นการนำภาพการชุมนุมเมื่อปี 56 มาโฆษณาชวนเชื่อให้คนเข้าใจว่า "เจ้าหน้าที่ทุบรถทำลายข้าวของของประชาชน" โดยผู้ที่โพสต์หรือส่งต่อข่าวปลอมทั้ง 2 กรณี จะมีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ