สธ. ยกระดับมาตรการดูแลหญิงตั้งครรภ์ หลังมีความเสี่ยงติดเชื้อ-เสียชีวิตสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Friday August 13, 2021 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่เดือน 1 ธ.ค. 63 - 11 ส.ค. 64 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,993 ราย แบ่งเป็นคนไทย 1,315 ราย และรายต่างชาติจำนวน 678 ราย โดยในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนแล้ว 10 ราย ทั้งนี้มีการติดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์จำนวน 113 ราย และมีมารดาเสียชีวิตจำนวน 37 ราย ทารกเสียชีวิตจำนวน 20 ราย ซึ่งจากสถิติพบว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในกทม. ด้านข้อมูลจากระบบหมอพร้อม มีหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 7,935 ราย ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว 574 ราย

ทั้งนี้ ในการระบาดระลอกแรกยังพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อยังมีจำนวนน้อย แต่ตั้งแต่การระบาดระลอกที่สองเริ่มพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อมากขึ้น ในช่วงเดือนธ.ค. 63 - มี.ค. 64 พบถึงเดือนละ 5-25 ราย และในการรระบาดระลอกที่สาม พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่เดือนพ.ค. 64 พบเดือนละมากกว่า 200 ราย และในเดือนก.ค. 64 พบมากถึงเดือนละ 800 ราย ในขณะเดียวกันก็พบอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเม.ย. เป็นต้นมา

โดยจากการวิเคราะห์ผู้เสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ มีข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์จำนวน 37 ราย พบว่า เสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 35 ราย จากรกลอกตัวก่อนกำหนด 1 ราย และจากน้ำคร่ำอุดกั้นปอดจำนวน 1 ราย โดยพบปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่มาจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และจากการวิเคราะห์การเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 23 ราย พบว่า มาจากปัจจัยจากหญิงตั้งครรภ์ 9% การเข้าถึงบริการ 21% ขอจำกัดภายระบบบริการ 70%

ทั้งนี้ทางกรมอนามัยได้ยกระดับมาตรการป้องกันและดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปเกือบ 3 เท่า โดยมีมาตรการ ดังนี้

1. การป้องกันระดับบุคคล ด้วยมาตรการ D-M-H-T-T ในครอบครัว, การรณรงค์ฉีดวัคซีนที่คลินิกฝากครรภ์ หรือการให้บริการเชิงรุกในชุมชน และมาตรการ WFH ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบสองเข็ม, อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ในไตรมาส 3, ผู้มีภาวะครรภภ์เสี่ยงสูง และผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการ หรืออยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

2. การดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากร CPG, จัดให้มี Multidisciplinary Consultation ระดับเขต, ยกระดับเครือข่ายระดับเขตในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ และผลักดันให้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อได้เข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล

ด้าน นพ.การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่ามีการติดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์จำนวน 113 ราย คิดเป็น 11.8% ซึ่งเป็นอัตราการติดเชื้อที่สูงกว่าต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ และสหรัฐฯ มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมจำนวนมาก จึงมีอัตราการติดเชื้อ และเสียชีวิตที่ต่ำ

ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการรับวัคซีน โดยยืนยันว่าวัคซีนทุกชนิดมีความปลอดภัย และไม่อยากให้หญิงตั้งครรภ์เลือกวัคซีน มีวัคซีนไหนให้ฉีดไปก่อนให้มีภูมิคุ้มกันเบื้องต้น โดยสามารถฉีดได้ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป (3 เดือนขึ้นไป) โดยในภายหลังหากอยากเปลี่ยนชนิดวัคซีนก็สามารถทำได้หากมีข้อมูลการศึกษาเพียงพอ

ส่วนกรณีที่มีหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วทารกในครรภ์เสียชีวิต ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐฯ ในการตั้งครรภ์ปกติ (ที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19) 100 ราย พบว่าสูญเสียเด็กในครรภ์ 1 คน หรือ 1% โดยไม่ทราบสาเหตุ ในส่วนของประเทศไทยมีสถิติใกล้เคียงกัน คือประมาณ 1% ดังนั้นกรณีการเสียชีวิตในครรภ์นี้อาจเป็นเหตุการณ์คล้องจองที่เกิดขึ้นพร้อมกัน อย่างไรก็ดีข้อสรุปนี้ยังไม่เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนเหมือนกรณีที่มีสาเหตุการเสียชีวิตจากการทานยาคุมกำเนิด และฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมอนามัยว่าจะมีมาตรการคุมกำเนิดชั่วคราวหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ยังมีจำนวนน้อย และไม่ครอบคลุม ประกอบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปถึง 2.5-3 เท่า อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพบว่าในประเทศไทยมี 1 ครอบครัวมีค่าเฉลี่ยเด็กต่ำกว่า 1.5 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรที่น้อยลง ประเทศไทยจึงอาจประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ จากทั้งสภาวะเศรษฐกิจ และการระบาดของโควิด-19


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ